วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผู้นำตามหลักแห่งเต๋า

ผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้ที่ประชาชนแค่รู้ว่ามีเขาอยู่

ที่ดีรองลงมาคือผู้ที่ประชาชนรักและสรรเสริญ


รองลงมาอีกก็คือผู้ที่ประชาชนเกรงกลัว

ที่แย่ที่สุดคือผู้ที่ประชาชนเกลียดชัง

 

หากผู้นำไม่เชื่อใจผู้ใด แล้วจะมีใครเชื่อใจเขา

ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้ที่ประหยัดถ้อยคำ


เขาจะไม่พูดจาออกไปสุ่มสี่สุ่มห้า


เขาจะทำงานโดยไม่ถือประโยชน์ส่วนตน


และเมื่องานสัมฤทธิ์ผลผู้คนจะพูดพร้อมกันว่า


“พวกเราสามารถทำงานสำเร็จได้ด้วยตัวเอง”

 ข้อเตือนใจ เพื่อใช้เตือนตน

บทนี้เป็นการสอนที่ทำให้เข้าใจเรื่องภาวะนำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Participation) ได้เป็นอย่างดี เป็นการนำแบบที่เรียกว่า “นำจากข้างหลัง หรือ Leading from behind” ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่กล้ากลัวตายจึงไปหลบอยู่ข้างหลัง หากแต่เป็นการนำแบบ "เอื้ออำนาจ” คือฉลาดในการ Empowerment เรื่อง Empowerment นี้เป็นเรื่องที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาก Empowerment ไม่ได้แปลว่า  ข้ามอบทุกอย่างให้เองไปทำ (ตามที่ข้าต้องการ)” เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น แสดงว่านั่นยังอยู่ในโหมดของการสั่งการและควบคุม (Command & Control) อยู่ดี Empowerment ที่แท้จริง หมายถึง Make others powerful คือ เป็นการเอื้อ เป็นการเสริม ให้คนได้ใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่อย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าผู้นำประเภทนี้ยังต้องทำหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน คือต้องเปลี่ยนบทบาทจาก คุณอำนาจ” มาเป็น คุณอำนวย” หรือ “คุณเอื้อ” ให้ได้นั่นเอง

แม้หลักสูตรการบริหารจะมีการสอนเรื่อง Leadership และ Empowerment กัน ค่อนข้างมาก หากแต่ว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่พลอยเข้าใจผิด คิดว่าการนำแบบนี้เป็นการปล่อยให้ลูกน้องทำไป โดยที่ตัวผู้นำไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการ “ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง” ไม่สนใจใยดี การปล่อยแบบนี้เข้าข่ายการ ปล่อยปละละเลย” ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการ เพิกเฉย”  ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำว่า วางเฉย” ที่เรามักได้ยินกันเวลาพูดคำว่า อุเบกขา” อุเบกขาไม่ได้แปลว่า เฉยเมย” หากแต่เป็นการ เฉยมอง” คือยังต้อง  ตามดู” ต้องมีการ Monitor (ตามดู) อยู่ตลอดเวลา จะได้ปรับเปลี่ยน กระบวนท่า” ได้ทันท่วงที ผู้ที่ทำได้เช่นนี้จะถือว่าเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นสูง เป็นผู้นำที่ทำตามหลักแห่งเต๋าได้เป็นอย่างดี !

จาก :beyondKM

Ico64
ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/458275

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิคุจิโร โนนากะ ผู้บุกเบิก KM เอเซีย

ใครที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความรู้หรือ KM คงต้องเคยได้ยินชื่อ ศาสตราจารย์ โนนากะ ปรมาจารย์ด้านการจัดการความรู้ท่านหนึ่งของโลกมาบ้างไม่มากก็น้อย  ผมเคยอ่านที่ไหนสักแห่งว่า โนนากะเคยกล่าวไว้ว่า "การจัดการความรู้ (Knowledge Management)" เป็นชื่อเรียกที่ผิด ที่ถูก ควรเรียกมันว่า "การจัดการบนฐานของความรู้ (Knowledge Based Management)" จะเหมาะสมกว่า

สำหรับบางท่านที่อาจจะอยากทราบความเป็นมาหรือประวัติรวมทั้งแนวคิดของโนนากะ วันนี้ผมเลยขออนุญาตนำบทความบนเว็บไซต์ http://www.arip.co.th/  มาฝาก

ศาสตราจารย์ อิคุจิโร โนนากะ เป็นชาวญี่ปุ่น   ถือเป็นกูรูด้าน KM ชาวเอเชียที่ถือว่าได้รับการยอมรับทั่วโลก สำหรับประวัติการทำงานนั้น  เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ที่ Haas School of Business, UC Berkeley และที่ Hitotsubashi University in Tokyo เป็นคณบดีศูนย์วิจัยด้านความรู้และนวัตกรรม (CKIR) ที่ Helsinki School และที่ Japan Advanced Institute of Science and Technology ฯลฯ  





เริ่มสนใจในเรื่องของ KM เมื่อครั้งที่กำลังเรียนระดับปริญญาเอกที่ UC Berkeley และใช้เวลากว่า 5 ปี ทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาก้าวสู่ตำแหน่งสุดยอดกูรู KM ก็เมื่อเขาร่วมมือกับเพื่อน Hirotaka Takeuchi และ Ken-ichi Imai ทำโครงการพัฒนาองค์กรธุรกิจในญี่ปุ่นก้าวสู่โลกนวัตกรรม ซึ่งพวกเขาพบว่าเกิดจากการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นการปฏิวัติธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบเดิมของญี่ปุ่น ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย “นวัตกรรม”

โนนากะกับ Hirotaka Takeuchi ร่วมกันเขียนหนังสือที่ชื่อว่า "The Knowledge-Creating Company" เมื่อ ค.ศ.1995 และถือเป็นคัมภีร์ที่นัก KM ทั่วโลกยอมรับ หนังสือเล่มดังกล่าว นำเสนอทฤษฎี KM ด้วยกิจกรรมสำคัญ 7 ประการ ในการดำเนินการจัดการความรู้ในองค์กร ได้แก่

1.สร้างวิสัยทัศนเกี่ยวกับความรู้
2.สร้างทีมจัดการความรู้
3.สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้นในกลุ่มพนักงานระดับล่าง
4.จัดการความรู้ควบไปกับกิจกรรมพัฒนาสินค้า / วิธีการใหม่ หรือพัฒนารูปแบบการทำงาน
5.เน้นการจัดการองค์กรแบบ "ใช้พนักงานระดับกลางเป็นพลังขับเคลื่อน" (middle-up-down management)
6. เปลี่ยนองค์กรไปเป็นแบบ "พหุบาท" (hypertext) และ
7.สร้างเครือข่ายความรู้กับโลกภายนอก

โนนากะเป็นนักคิด นักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย Hitotsubashi University ยุคแรกๆ ที่ผสมผสานเอาแนวคิดของ 2 บรมครูอย่าง Peter Senge กูรูการจัดการที่เน้นองค์กรแห่งการเรียนรู้กับ Peter Drucker ที่ปรมาจารย์อีกคนที่มองว่า KM เป็นกุญแจสู่การเติบโตขององค์กรในอนาคตและผลิตผลจะงอกเงยได้ก็ต้องอาศัยความรู้เป็นตัวนำมาปรับใช้และทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับหลายธุรกิจในญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จ


Peter Drucker

Peter Senge


 
เขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากหลายบริษัทชั้นน้ำอย่าง ฟูจิ ซีร็อกซ์ เอ็นทีที การบริหารจัดการ KM เป็นภูมิปัญญา และฝังรากลึกอยู่ในปรัชญาองค์กรจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง

เวลาพูดถึงการบริหารจัดการความรู้ คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงไอที แต่โนนากะมองว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถ้าทำความรู้จักและเข้าใจตัวตน KM อย่างถ่องแท้ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรได้มาก 50-60% แต่ทุกวันนี้หลายองค์กรกลับไม่ได้เอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเพียงพอ ทั้งในความเป็นจริง KM ถือเป็นทรัพย์สินที่ทรงคุณค่าสูงสุดในองค์กร


จาก : http://www.arip.co.th/businessnews.php?id=410432

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สมองสองซีก ระบบการศึกษา และการพังทลาย

    เมื่อตอนที่ผมเป็น รอง ผอ.รร.พธ.พธ.ทร.ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่จะเพิ่มศักยภาพการเรียนรุู้ของคนเรา เพราะผมถือว่า "เรียนอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการรู้ว่าจะเรียนรู้อย่างไร" ผมจึงสนใจเรื่องเกี่ยวกับการใช้สมองในการเรียนรู้ด้วย

    บทความต่อไปนี้ ผมเอามาจากบล็อก [T]issues 2.1 บทความเรื่อง
สมองสองซีก ระบบการศึกษา และการพังทลาย ดูเพิ่มเติมได้ที่
http://www.vashira.com/tissues/index.php/archives/129

สมองสองซีก ระบบการศึกษา และการพังทลาย

i – สมองสองซีก


สมองของมนุษย์สองซีกนั้น แม้ลักษณะภายนอกจะใกล้เคียงกัน แต่กลับมีหน้าที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง



     สมองซีกซ้ายเป็นส่วนที่เกี่ยวกับความคิดอย่างเป็นระบบ เช่น 1+1=2 แต่หากพิจารณาในด้านของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สมองซีกนี้ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง มันสามารถทำสิ่งต่างๆได้ทันทีหลังจากผ่านการเรียนรู้แล้ว และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสมบูรณ์แบบ เป็นสมองของงานด้านจักรกล เป็นสมองของเหตุและผล ตรรกศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นสมองซีกที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ ความเฉลียวฉลาด และความมีระเบียบวินัย

     ส่วนสมองซีกขวานั้นมีคุณสมบัติตรงข้ามกัน เป็นสมองซีกที่มีแต่ความไร้ระเบียบ ไร้รูปแบบ (เช่น 1+1=กระต่าย) เป็นสมองแห่งบทกวีมิใช่ร้อยแก้ว เป็นสมองแห่งความรักมิใช่เหตุผล สมองส่วนนี้ไวต่อความรู้สึก ความสวยงาม และเป็นสมองส่วนที่มองเห็นสิ่งที่เป็นต้นแบบ แต่มิใช่ประสิทธิภาพ นักสร้างสรรค์ไม่สามารถมีประสิทธิภาพสูงได้ แต่พวกเขาต้องทดลองสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ


     เมื่อตอนเราแรกเกิด สมองซีกขวานั้นเริ่มทำงาน ในขณะที่ซีกซ้ายยังหยุดนิ่ง หลังจากนั้นเราเริ่มสั่งสอนพวกเขา… เราสอนให้ยักย้ายพลังจากสมองซีกขวาไปสู่ซีกซ้าย ทำอย่างไรถึงจะหยุดการทำงานของซีกขวาเสีย? และเริ่มต้นการทำงานของซีกซ้าย

นั่นคือระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย…






ระบบการเรียนที่พยายามทำลายสมองซีกขวา สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆนาๆเพื่อลดอัตตาของเด็ก ตั้งแต่การตัดผมสั้นเกรียน (สั้นทำไม? ตบกระโหลกมันดี – รู้ไหมว่ามันหนาวนะว้อย) การเข้าแถวตอนเช้า การสอนให้ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองเพื่อทำข้อสอบ ในขณะที่คนออกข้อสอบกลับเปิดตำราออกข้อสอบสบายใจ (จะให้ยุติธรรมต้องให้คนออกข้อสอบท่องจำมาออกด้วยสิ) ฯลฯ


ช่วงอายุ 7-14 ปีของเด็กนั้น เราคือผู้ประสบความสำเร็จ แต่เด็กคือผู้ถูกฆ่าและถูกทำร้าย…
หลังจากนั้นเด็กๆจะไม่พยศต่อไป เขาจะเป็นพลเมืองดี เรียนรู้ความมีวินัย ภาษา และตรรกศาสตร์ พวกเขาจะเริ่มแข่งขันกันภายในโรงเรียน และลุกลามไปถึงข้ามโรงเรียน (สอบเอ็นทรานซ์) เขาจะเริ่มสนใจในอำนาจ เงินตรา เริ่มคิดถึงการได้เรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้มีอำนาจมากๆ คิดถึงวิธีที่จะทำให้มีเงินมากๆ ได้เงินมากขึ้น มีเงิน มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น และ…
เขาก็เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว…

     สมองซีกขวาจะเริ่มทำงานน้อยลงๆ หรือทำงานแต่เฉพาะเมื่อเราอยู่ในความฝัน หรืออยู่ในสภาวะหลับลึกหรือบางครั้ง เมื่อเราอยู่ใต้อำนาจของยาเสพย์ติด…

     อำนาจดึงดูดของยาเสพติดก็คือ ความสามารถในการปรับความคิดมนุษย์จากสมองซีกซ้ายไปสู่ซีกขวาได้โดยฉับพลัน

    มวลมนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยปราศจากความรัก บทกวี และความสนุกสนาน? คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก คนรุ่นใหมทั่วโลกต่างแสดงถึงความโง่เขลาของสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา″


ii – ระบบการศึกษา


     ระบบการศึกษาที่สืบทอดกันมาแต่อดีตควรถูกรื้อทิ้งไปเสีย โลกการศึกษาควรได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจัง เด็กๆไม่ควรถูกบังคับให้ปฏิบัติในแบบแผนที่ซ้ำซากจำเจ






     ระบบการศึกษาของเราคืออะไรกันแน่? เราเคยไตร่ตรองเรื่องนี้บ้างไหม? สิ่งที่มันเป็นอยู่ คือการฝึกให้จำเท่านั้น เราไม่มีทางเกิดปัญญาด้วยกระบวนการนี้ได้ แต่กลับจะด้อยปัญญาลงทุกทีๆ จนโง่เขลาไปเลย! เด็กแต่ละคนเริ่มเข้าเรียนด้วยปัญญาที่เฉียบแหลม แต่มีน้อยเหลือเกินที่ก้าวออกจากมหาวิทยาลัยโดยที่ยังมีปัญญาดีอยู่


     การผ่านกระบวนการของมหาวิทยาลัยมักเน้นที่ความสำเร็จ ใช่ เราได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย แต่เราต้องแลกปริญญานั้นมาด้วยต้นทุนมหาศาล ซึ่งก็คือเราต้องสูญเสียปัญญาของเราไป เราต้องสูญเสียความสุข สูญเสียชีวิตของเราไป อันเนื่องมาจากสมองซีกขวาสูญเสียการทำงาน

     แล้วสิ่งที่เราเรียนรู้มีอะไรบ้าง? ข่าวสารข้อมูลไงล่ะ สมองของเราจะเต็มไปด้วยความทรงจำที่เราสามารถทบทวน หรืออธิบายซ้ำได้ ซึ่งนั่นก็คือวิธีการทดสองที่เราต้องผ่าน กล่าวคือ บุคคลจะได้รับการยอมรับว่าเฉลียวฉลาด หากเขาสามารถ “สำรอก” ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับการหยิบยื่นให้ ออกมาได้ – แต่ก่อนอื่นเขาจะถูกบังคับให้ “กล้ำกลืน” ข้อมูลเข้าไปเสียก่อน รับเข้าไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงเวลาทดสอบก็ค่อยสำรอกมันออกมา หากท่านสามารถสำรอกออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านคือคนฉลาด หรือหากท่านสำรอกได้เหมือนกับสิ่งที่กล้ำกลืนขย้อนเข้าไป ท่านคืออัจฉริยะ

     สิ่งที่ต้องทำความเขาใจในที่นี้คือ หากท่านจะสามารถ “สำรอก” สิ่งเดิมออกมาได้ นั่นหมายถึงสิ่งนั้นไม่ได้ผ่าน “กระบวนการย่อย” เลย – คนโง่เขลาที่สุด กลับถูกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะ ถือเป็นสภาวะที่น่าเศร้าอย่างที่สุด
  
     ท่านทราบหรือไม่ว่า อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ตกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้มีความหลักแหลมและความริเริ่มสร้างสรรค์ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะทำตัวโง่เขลาแบบที่ใครๆทุกคนทำอยู่

iii – การพังทลาย


     ในภูมิภาคเอเซีย สังคมที่มีระบบการศึกษา(สมองซีก)ซ้ายสุดโต่งเฉกเช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไทย กำลังโดนการ “โต้กลับ” ของ(สมองซีก)ขวาอย่างวัฒนธรรมเกมส์ออนไลน์



     สมองซีกขวากำลังทำการปฎิวัติ โดยอาศัยเจ้านายตัวน้อยของมัน และความต้องการเสพจินตนาการ ความสุข อย่างไม่มีที่สิ้นสุด…
สมองซีกขวากำลังทวงอิสรภาพที่สูญเสียมาเนิ่นนาน

     ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เราจะทำความเข้าใจสมองอีกส่วนหนึ่งที่เคยถูกปิดกั้นตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย – ทำความเข้าใจ เพ่ือจะได้สื่อสารกับเด็กของเรารู้เรื่อง

     “มอง” อย่างที่เค้ามอง ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น…


    เมื่อใดที่ผู้ใหญ่สังคมไทยทำความเข้าใจกับกระบวนการทำงานของสมองซีกขวา และให้โอกาสมันได้ทำงานบ้าง เมื่อนั้นเราคงไม่ได้ยินประโยคแบบนี้อีก

     “เกมส์อันตรายนะคะ GTA อะไรเนี่ย อย่าให้บุตรหลานของคุณเล่นนะคะ เล่นแล้วจะซึมซับความรุนแรง ประเดี๋ยวออกไปไล่ฆ่าใครต่อใครนะคะ”

     เปิดสวิตซ์สมองอีกซีกซะบ้าง
    เด็กไม่ใช่ควาย…

     หากกระบวนการปรับเข้าหากันของขวาและซ้าย ช้าเกินไปไม่ทันการ เมื่อนั้นเราอาจจะได้เห็น… การพังทลายของสังคม

อ้างอิง:
◦ข้อความส่วนใหญ่ (i, ii) หยิบยืมมาจากหนังสือชื่อ “คิดนอกรีต (Creativity)” ของท่าน Osho แปลโดยบริษัท สื่อดี จำกัด
◦ข้อความบางส่วน (i, ii) ผู้เขียนแต่งรูปประโยคใหม่
◦ข้อความอีกหลายส่วน (iii) ผู้เขียนเพิ่มเข้าไปเอง

     เป็นอย่างไรครับ ค่อนข้างแรงทีเดียว อ่านแล้วไม่ต้องเชื่อหมดก็ได้ แต่อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านการพัฒนาคนลองเอาไปคิดดูว่าเราจะสร้างคนหรือช่วยให้เขาสร้างตัวเองขึ้นมาอย่างไรให้เป็นประโยชน์ท้ังกับตัวเขาและองค์กรของเรา

การจัดการความรู้กับการบริหารราชการแนวใหม่



วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรู้มือหนึ่ง ที่แสนจะเล็กจิ๋ว แต่มีความหมายยิ่งใหญ่

       ไม่ได้แวะเวียนมาเขียนบล็อกเสียนาน เพราะตอนนี้ไม่มีเวลาเนื่องจากย้ายที่ทำงานไปที่ พธ.ทร.แล้ว ต้องขับรถไกล ตื่นแต่เช้ามืด ทำให้นอนดึกๆ ไม่ได้อีก เวลาจะเข้าเน็ตแทบไม่มี วันนี้ขอแก้ขัดด้วยบทความของคุณ Thawat ใน gotoknow.org  (http://gotoknow.org/blog/learn-together/349787) ซึ่งอ่านแล้วชอบ ตรงใจ คล้ายๆกับบทความที่ผมเคยเขียนไว้เหมือนกันเลยเอามาฝากดังนี้



       มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยสนใจกับความรู้ปฏิบัติ   ซึ่งผมขอเรียกว่า "ความรู้มือหนึ่ง" หรือตรงกับความหมายเชิงวิชาการที่เรียกว่า Tacit Knowledge ของคนทำงานก็แล้วกัน
จากคำถามจาก workshop หลายๆครั้ง ที่มักถามว่า  "เราลงทุนไปตั้งเยอะ  แล้วได้เพียงแค่ความรู้จากเรื่องเล่าแบบนี้เองหรือ?" 

       ผมกลับมาพิจารณาอ่านแล้ว อ่านอีก  อ่านเรื่องเล่าความสำเร็จเล็กๆได้มาจากที่ต่างๆ
เห็นว่ามันเล็กจริงๆ  มันเป็นเพียงเรื่องจากเหตุการณ์เดียว  บางเรื่องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของคนคนเดียวเสียด้วยซ้ำ   ประเด็นนี้ชัดเจนครับว่ามันเล็กจริงๆ มันเลยไม่ค่อยทันใจซักเท่าไร  สำหรับคนที่ต้องมารับหน้าที่ดูแล การจัดการความรู้ขององค์กร   ซึ่งอยากเห็นความรู้ใหญ่ๆโตๆ  ที่สำคัญและจำเป็นต่อองค์กรอย่างยิ่งยวด  มันนำไปอธิบายผู้บริหารไม่ได้แบบเต็มปากเต็มคำ  เลยไม่ค่อยอินเท่าไร

       แต่หากถามความเห็นผมต่อเรื่องนี้  ผมมองคุณค่าของ "ความรู้ปฏิบัติ" ของคนทำงานอย่างนี้ครับ
คำถามแรก  ผมกลับถามว่า - องค์กรอยากได้คนแบบไหนเข้าทำงานระหว่าง  "คนที่เสพความรู้"  กับ  "คนที่สร้างความรู้"

       คำถามที่สอง  - โลกของการงานในองค์การใดๆก็ตาม  เราต้องการให้คนของเราเรียนรู้แบบไหน?  ระหว่าง    "เรียนเพื่อรู้" (Learn to know) กับ "เรียนเพื่อนำกลับไปทำได้" (Learn to do) ด้วยคำถามเหล่านี้มันทำให้ผมค่อยๆเชื่อมโยงและเข้าใจว่า...การที่เรามีคนทำงานซึ่งมีลักษณะนิสัย พฤติกรรมใส่ใจกับการงานที่ทำอยู่ตรงหน้า  ไม่สนใจว่างานนั้นจะเล็กหรือใหญ่  พยายามค้นหาคำตอบของการทำงานให้กับตัวเองเสมอว่า  "ยังมีวิธีทำงานแบบอื่นอีกไหม ที่จะทำให้งานของเขาไม่เกิดปัญหานี้อีก  หรือทำให้การทำงานง่ายกว่านี้อีก  หรือการทำงานไม่เกิดความเสี่ยงอย่างนี้อีก  หรือ ทำงานที่ลดต้นทุนกว่านี้อีก  หรือทำงานมีคุณภาพได้มากกว่านี้อีก ฯลฯ?" 

       หากคนในองค์กรในทุกระดับ  มีพฤติกรรมเช่นนี้  ท่านคิดว่ามันพอที่จะมีพลังนำพาองค์กรไปสู่  องค์กรนวัตกรรม  หรือว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้หรือไม่?

       แต่พฤติกรรมการเรียนรู้ในการทำงานของคนมันมักสะท้อนออกมาให้เห็นเป็น รูปธรรมเล็ก  ที่พอจะอนุมานได้ว่า  "เขาเอาใจใส่กับการงาน ที่เขากำลังทำอยู่นั่นเอง"

       ความรู้มือหนึ่งของคนทำงาน  เกิดขึ้นจากการที่คนต้องเอาใจใส่   สังเกต  คิดหาวิธี  ตั้งโจทย์คำถาม (คล้ายๆนิสัยนักวิจัย)  ทดลองทำ หาคำตอบด้วยการทำเอง  แต่สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแบบเล็กๆ  จิ๋วๆ  คนจึงมักมองข้ามคุณค่ามัน

       คนขายก๊วยเตี๋ยวมืออาชีพ  กับ คนขายก๊วยเตี๋ยวมือใหม่  ต่างกันตรงไหน?  ไม่ใช่ต่างกันที่ทริค  กลเม็ด เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้หรือ  แล้วสังเกตความต่างได้จากอะไรบ้าง? ยิ่งองค์กรใดที่มีคนจำนวนมาก  มีพฤติกรรมใส่ใจกับการทำงาน  ด้วยการพยายามสร้าง "ความรู้มือหนึ่ง" มาใช้เองและเผยแพร่ไปยังเพื่อนร่วมงานมากเท่าไร?  ความรู้ก็จะยิ่งขยายใหญ่ได้เร็วเท่านั้น

       แต่น่าเสียดาย  ที่พอตั้งต้น   องค์กรก็มักจะหลงไหลความรู้ใหญ่ๆก่อน  ที่อาจจะเป็นความรู้ซึ่งผ่านมาหลายมือแล้ว   พยายามจัดการความรู้แบบนี้ก่อน  แต่ลืมคิดไปว่า  แม้จะมีความรู้ชั้นเทพ  มาวางอยู่ข้างหน้า  มันอาจจะมีค่าเพียงเพชร  ที่วางอยู่หน้าไก่  ก็อาจเป็นได้   เพราะว่าคนของเรายังไม่มีทักษะในการเจียรนัยความรู้มาใช้กับงานได้

       ความเป็นมืออาชีพ  ที่ผมเข้าใจตอนนี้  ผมตั้งสมมติฐานว่าเกิดจากทักษะการเรียนรู้ของตัวเอง  เช่น  การฟัง  การอ่าน  การตั้งคำถาม การสังเกต และการทดลอง ที่ค่อยๆพัฒนาจนได้ระดับความลึกในเชิงคุณภาพ  คนที่เป็นมืออาชีพ  ตามที่ว่านั่น  มีความสามารถในเรียนรู้ได้สูง  เรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัวและนำกลับมาใช้กับการงานเฉพาะทาง หรือชีวิตส่วนตัวของเขาได้

       แต่คนที่ความสามารถในการเรียนรู้ที่ยังไม่ถึงขั้น  มักจะต้องร้องขอตัวอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทเดียวกับที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ ความรู้มือหนึ่ง - สำหรับผมแล้ว  มันคือสัญญานบอกให้เรารู้ว่า  คนของเรา  เพื่อนของเราไม่ว่าจะตัวเล็ก ตัวใหญ่แค่ไหนตำแหน่งหน้าที่อะไร  เขาผู้นั้น กำลังเข้าสู่ภพภูมิของผู้สร้างความรู้  

       แล้วท่านหล่ะไม่อยากเห็นคนในองค์กร  ในชุมชนของท่านแสดงพฤติกรรมเยี่ยงนี้บ้างหรือ?
และที่สำคัญ  ความรู้ปฏิบัติเล็กๆ ที่ว่านี้  มันมีอยู่แทบทุกที่  เห็นจากคนแทบทุกระดับไม่ว่าคนคนนั้นจะมีการศึกษามากน้อยเพียงใดก็ตาม