วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

KM โรงพยาบาลบ้านตาก

    คนที่สนใจศึกษาเรื่องการจัดการความรู้ในเมืองไทย น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อ "โรงพยาบาลบ้านตาก"  โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับรางวัลมากมายและเป็นต้นแบบในการใช้ KM ที่ดีแห่งหนึ่ง พวกเขาสามารถสร้างโมเดลการจัดการความรู้สำหรับหน่วยงานของตัวเองได้ เหมือนกับที่บริษัท NOK ในภาคเอกชนทำได้ พูดง่ายๆ ว่า ดังมาก

   ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากมายอย่างนี้ ประการแรกคงมาจากผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารงาน ยอมรับความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตและมุ่งที่จะพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา ประการต่อมาก็คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในหน่วยงานที่ล้วนมองไปในทิศทางเดียวกัน มีความมุ่งมั่นในการทำงานและปรารถนาที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนทำให้พวกเขาค้นพบเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ และความสุขในการทำงาน ไม่ว่างานนั้นจะหนักหรือน่าเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม



   ผมดูวีดีโอนี้แล้ว รู้สึกประทับใจ และคิดว่า รพ.นี้ ก็คงจะเป็นหน่วยงานในฝันของใครๆ อีกหลายๆคน ซึ่งแม้ว่า พธ.ทร.จะยังคงไปไม่ถึงตรงนั้น แต่หากพวกเราร่วมแรงร่วมใจกัน ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาแล้ว คิดว่าสักวันหนึ่ง พธ.ทร.จะต้องสามารถเป็นเหมือนเช่น รพ.บ้านตาก ได้อย่างแน่นอน

KM ชอบความหลากหลาย

   ท่านคิดว่าใน พธ.ทร.ของเรา เวลาทำงานหรือประชุม เราชอบที่จะเถียงเพื่อเอาชนะกันในทุกๆ เรื่องหรือไม่ครับ

   คนเราเวลาคิดหรือเรียนรู้อะไรแล้ว ประสบการณ์หรือพื้นฐานเดิมจะเป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือการแสดงออกของเราแทบทั้งสิ้น นั่นก็เพราะเราต่างก็มีสมมุติฐานที่ได้รับรู้มาจากประสบการณ์ส่วนต้วด้วยกันทุกคน

   KM สอนให้รู้จักรับฟังผู้อื่น ไม่ใช่ฝืนฟังหรือทนฟัง แต่ฟังให้ได้ยิน แบบที่เขาเรียกว่า Deep Listening  คืออย่าเพิ่งด่วนตัดสินความคิดหรือความรู้ของคนอื่นด้วยสมมุติฐานของเราว่า ถูกหรือผิด หรือไม่ดีเท่ากับของตัวเราเอง หรือคิดว่าไอ้ที่คุณพูดมาน่ะเป็นความรู้กระจอกๆ ที่ใครๆ เขาก็รู้แล้วทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้ว KM สอนให้เราเปิดใจให้กว้างไว้ก่อน ลดอัตตาตัวตนลงบ้าง เพราะของทุกสิ่งมันมีหลายแง่มุม ก็ขนาดเหรียญยังมีสองด้านนี่ครับ ถ้าเราจะเชื่อตามที่เขาว่ามา ผมก็เห็นว่าการเปิดใจรับฟังคนอื่น ไม่น่าจะทำให้เราขาดทุนตรงไหน

  KM นั้นต้องการความหลากหลาย (ไม่งั้นจะเรียกว่ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรอะ !) ผู้ที่ฟังเป็น ถือว่าได้เปรียบ เพราะการฟังเป็นหรือฟังให้ได้ยิน ถือว่าเป็นศิลปะในการเรียนรู้ชั้นสูง  พวกเราหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวในทำนองที่ว่า "คนฉลาดย่อมเป็นผู้ฟังที่ดี" อะไรประมาณนี้กันมาบ้างนะครับ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเราส่วนใหญ่ก็รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ทว่าในชีวิตจริงเรามักจะทำกันไม่ได้อย่างนั้น เพราะมันคันปาก คอยอยากจะโต้แย้งไปตามความคิดเห็น ทัศนะคติและอัตตาของเรา ผมเองก็เป็นบ่อย ซึ่งเราก็คงต้องค่อยๆ ฝึกฝนกันไป ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราอยู่ในหลักการนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ "การมีสติ"  เราจะต้องคอยเตือนสติตนเองอยู่เสมอไม่ให้หลงไปว่า เก่งหรือวิเศษกว่าคนอื่น เพราะคนที่เก่งที่สุดน่ะ  ไม่มีหรอกครับ

ลองชมวีดีโอเรื่องนี้ดูครับ

บางส่วนจาก Human KM Workshop

อีกวิดีโอหนึ่งจาก อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด ครับ ผมดูแล้ว ชอบวีดีโอนี้ เพราะให้ความคิดที่หลากหลายแง่มุมดี

ผมชอบที่อาจารย์เปรียบการใช้ KM ว่าเสมือนกับการ "ลับเลื่อย"  คือถ้าคนเราจะเลื่อยไม้ มันก็ต้องมีหยุดลับเลื่อยกันบ้าง ขืนเลื่อยต่อไป เลื่อยมันก็ทู่ เลื่อยไม้ไม่เข้า แทนที่จะเร็วกลับช้ากว่าการที่เรายอมเสียเวลา "ลับเลื่อย" ให้มันคมขึ้น บางทีถ้าเรายอมเสียเวลาใช้ KM บ้างสักนิด ในระยะยาวมันจะส่งผลที่ดีกว่าการฝืนทำงานโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่เหมาะสม ถูกต้องหรือทันสมัยนะครับ

ลองชมดูครับ มีประโยชน์สำหรับคนที่จะใช้ KM มาก


Model ภูเขาน้ำแข็ง

      อีกโมเดลหนึ่งจาก อ.ประพนธ์ฯ ครับ บางเรื่องก็แทงใจดำกรรมการ KM อย่างเรามาก
      ผมชอบแนวคิดของอาจารย์นะ (แต่ไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิดนะครับ) ที่บอกว่าต้องมีการจัดการ "ความรู้", "ความรู้สึก" และ "ความรู้สึกตัว" ดูเข้าท่าดี

COP Model เก้าอี้สามขา

    ราชการเราหวังไว้มากว่า จะใช้ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : COP) เป็นเครื่อมือสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ KM และพัฒนาบุคคลากรให้รูจักทำงานเป็นทีม และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้องค์กรของเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) แม้ว่าอาจจะฟังดูอุดมคติไปหน่อย แต่หากคนในองค์กรมีลักษณะอย่างที่ว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะทำให้การเป็น LO ไม่ไกลเกินเอื้อม

    อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด แห่ง สคส. ได้เสนอแนวคิดของ COP Model "เก้าอี้สามขา" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโมเดลปลาทูที่เรารู้จักกันดี ว่า หากเราสามารถสร้าง COP ให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างแท้จริง โดยเนียนอยู่ในเนื้องานแล้ว ทฤษฎี KM อะไรที่ว่าเข้าใจยาก เช่น The Fifth Discipline ของ Peter Senge ก็อาจไม่จำเป็นเลย อาศัยเพียงใจและวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งผมก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับอาจารย์นะครับ เหมือนกับว่าเมื่อผมได้อ่านแผนการจัดการความรู้ของบางหน่วยแล้ว มันเอียน มันงง ผมว่าการจะให้คนหมู่มากทำอะไรร่วมกับเรา น่าจะทำให้มันเข้าใจง่ายๆ แบบหลักการ "KISS - Keep It Simple and Stupid" ทำมันให้ง่ายและโง่เข้าไว้ (คนฉลาดๆ อย่างพวกเราจะได้เข้าใจง่ายๆ ไงครับ อิอิ)

KM ของแท้เป็นอย่างไร

     พูดกันมากว่า KM คืออะไร KM แบบไหนเป็นของแท้หรือของเทียม ลองมาฟังวีดีโอการบรรยายของ อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด ปรมาจารย์อีกท่านหนึ่งจาก สคส.ซึ่งท่านให้ทัศนะเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ



   
     จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากให้แนวคิดไหนหรือใครมาผูกขาดทางความคิดนะครับ ชมแล้วลองใช้วิจารณญาณดูกันเอาเองว่า KM ของเรามีส่วนที่เป็นของแท้หรือเทียมอย่างไรบ้าง

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาอบรม กับ การพัฒนางานด้านการบริการจัดเลี้ยงของ พธ.ทร.

เมื่อเดือนมกราคม 53 พธ.ทร.ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "การพัฒนางานด้านการบริการจัดเลี้ยงของ พธ.ทร.แบบบูรณาการ" โดยมีหน่วยเข้าร่วมคือ ฝ่ายอำนวยการ กบก.พธ.ทร. กบก.ศกล.พธ.ทร.และ รร.พธ.พธ.ทร. ซึ่งฝ่ายอำนวยการได้กำหนดกรอบในการพิจารณาไว้ 3 ประเด็น คือ ปัญหาปัจจุบัน ปัญหา 3 - 5 ปี ข้างหน้า ความต้องการใหม่/เพื่มเติม 3 - 5 ปีข้างหน้า

รร.พธ.ฯ ได้จัดเตรียมข้อมูลในการสัมมนาไว้ตามประเด็นดังกล่าว ไว้ 2 ลักษณะ คือ แบบ Mind Map และแบบข้อความ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องเฉพาะในด้านการศึกษาอบรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการจัดเลี้ยง แต่เนื่องจากเวลาในการสัมมนามีจำกัด จึงไม่มีโอกาสนำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งผลการสัมมนาเป็นอย่างไรนั้น ฝ่ายอำนวยการคงสรุปให้ทุกท่านได้รับทราบกันไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ทุกท่านได้รับทราบมุมมองในเรื่องนี้ของ รร.พธ.ฯ และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและปรับปรุงงานด้านการบริการจัดเลี้ยงและการฝึกอบรมของ พธ.ทร.ในอนาคต ผมจึงขอนำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ได้รับทราบกันดังนี้ครับ


Mimd Map การสัมมนาการบริการจัดเลี้ยง


การพัฒนางานด้านการบริการจัดเลี้ยงของ พธ.ทร.แบบบูรณาการ

บล็อกคืออะไร

ชวนกันมาเขียนบล็อกตั้งหลายคน แต่บางคนอาจไม่ได้เข้าไปฝึกกันในห้องคอมพิวเตอร์ และอาจยังงงอยู่ว่า บล็อกนั้นมันคืออะไรกันแน่ วันนี้ ผมไปเจอในเว็บ http://2talkbig.blogspot.com มา (เขาก็เอาข้อมูลบางส่วนมาจาก wikipedia อีกทีแหละ) เลยเอามาฝากครับ :
 
Blog เป็นคำเรียกสั้นๆ ของคำว่า WeBlog ซึ่งบ้างก็อ่าน We Blog หรือบ้างก็อ่านว่า Web log แม้จะอ่านต่างกันอย่างไร ทั้งสองคำก็บอกถึงสิ่งเดียวกัน คือ Blog (บล็อก) นั่นเอง
ความหมายของคำ ว่า Blog ก็คือ Website ชนิดหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาหรือ Entry จะ ถูกเขียนตามลำดับเวลา และแสดงผลย้อนกลับตามลำดับวันเดือนปี หมายความว่า เนื้อหาที่เราเขียนล่าสุดจะแสดงเป็นลำดับแรก ...งงมั๊ย? พูดง่ายๆ ก็คือ "เขียนก่อน แสดงสุดท้าย หรือล่างสุด ...เขียนทีหลัง แสดงอยู่ตำแหน่งแรก หรือส่วนบนสุดของหน้าเลย"
เนื้อหาของ Blog จะครอบคลุมได้ทุกเรื่อง เป็นต้นว่า ความคิดเห็นหรือเรื่องราวส่วนตัว ข่าวหรือบทความเฉพาะด้านต่างๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับอาหาร การเมือง กีฬา บันเทิง สิ่งที่ชอบ ของสะสม หรือข่าวท้องถิ่น การงานบางอย่าง ...มากกว่าจะเป็นไดอารีออนไลน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว
ใน Blog หนึ่งก็จะประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ และจุดเชื่อมโยง (Link)เพื่อเชื่อมโยงไปยัง Blog อื่น Webpage อื่น และสื่อ(media)ชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องนั้นๆ ที่ Blog นำเสนออยู่
จุด เด่นของ Blog ส่วนมากก็ คือ การแสดงความคิดเห็นของตนเองใส่ลงไปในบทความนั้นๆ และในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็นกลับ (Comments) ได้ด้วย
...ซึ่งลักษรณะแบบ นี้จะมีส่วนคล้ายกับ Webboard แต่ Blog จะแตกต่างจาก Webboard ตรงที่ เราสามารถจัดการหน้าของ Blog ได้เอง เหมือนเราเป็นเจ้าของเว็บไซต์ (ซึ่งก็ใช่จริงๆหละ) ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงส่วนไหน เมื่อไรย่อมสามารถทำได้
รูปแบบดั้งเดิมของ Blog ส่วนใหญ่คือ กล่าวเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เกี่ยวกับภาพถ่าย(Photoblog), ภาพเขียน(Sketchblog), วีดิโอ (vlog), เพลง (MP3 blog), หรือ audio (Podcasting), และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโดยกว้างของสื่อสังคม (social media) งง..ครับ?
(อ้างอิงจาก : http://en.wikipedia.org)
ที่นี้หากเราจะ เขียน Blog เราก้ต้องขอใช้บริการจากผู้ให้บริการ ที่เรียกว่า Blog Host ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียเงิน ..อันนี้แล้วแต่เราจะเลือกครับ โดยเราต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายเจ้า เช่น
ของไทย เช่น
  • www.storythai.com
  • www.Bloggang.com
  • http://blog.sanook.com
  • www.exteen.com
  • http://weblog.manager.co.th
  • ฯลฯ
ของต่างประเทศ เช่น
  • www.blogger.com
  • www.typepad.com
  • http://www.wordpress.org
  • http://spaces.msn.com
  • www.myspace.com
  • ฯลฯ
...เหล่านี้เป็นต้น และเมื่อเราได้ Account หรือพื้นที่สำหรับเขียน Blog มาแล้ว ก็ลงมือเขียนตามรูปแบบของ Blog แต่ละเจ้า ซึ่งจะมีเครื่องมือ (Tool) ในการสร้าง Blog ที่แตกต่างกันออกไป ...อันนี้ต้องศึกษาเป็นรายๆ ไป หรือหากเราเก่ง และเจ๋งพออาจสร้าง Blog Host ขึ้นมาใช้งานเองก็ได้เช่นกัน

    สำหรับ รร.พธ.ฯ เราตกลงใจใช้ Blogger.com ครับ อาจจะไม่ใช่เจ้าที่ดีที่สุดในบางแง่ แต่ก็คิดว่าเหมาะสมกับเรา แต่เอาไว้ก่อน วันหลังจะมาเล่าให้ฟังว่า เพราะเหตุใด

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

จุดอ่อนของการใช้การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ

         การจัดการความรู้ได้เข้ามาอยู่ในระบบราชการไทยมาหลายปีแล้ว ซึ่งพวกเราก็ได้ประสบปัญหาและอุปสรรคข้อขัดข้องในการดำเนินการมากมาย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีผู้รวบรวมไว้ใน wikipedia ครับ

         "เท่าที่ผ่านมายังมีหน่วยงานราชการไทยอีกมากมายที่ไม่สามารถใช้ การจัดการความรู้ (KM) ให้มีประโยชน์ต่องาน คน และองค์กรของตัวเอง อาจเป็นเพราะทำไปผิดทาง หรือ ตกหลุมพลางอันใหญ่ หลายอย่าง เช่น


1.ผู้บริหารยังยึดติดอยู๋ในวัฒนธรรมอำนาจ หรือโครงสร้างแบบสามเหลี่ยม ทำงานแบบ (Top-down) ไม่ยอมรับหรือเปิดโอกาสให้บุคคลากรได้ร่วมคิดและแสดงความคิดเห็น

2.ผู้บริหารที่ต้องการผลงาน หรือผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ใจร้อน โดยไม่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ คือวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวัฒนธรรมการทำงานแบบร่วมคิด ร่วมทำ

3.องค์กรไม่มีเป้าหมายในการใช้ KM ร่วมกัน หรือ เป้าหมายที่จะนำ KM ไปใช้ เป็นเป้าหมายที่ไม่มีพลัง ไม่น่าสนใจ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ให้กับใคร (หัวปลา ไม่ดี)

4.องค์กรยึดเอา KM เป็นตัวเป้าหมายเสียเอง ทำให้การใช้ KM ลอยๆ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย

5.องค์กรใช้ KM แบบหลอกลวง คือ ทำไม่จริง แต่ทำเพียงเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมินตามตัวชี้วัดของ ก.พ.ร.

6.ยึดติดในรูปแบบ หรือ ทฤษฎี KM แบบใดแบบหนึ่ง และทำโดยไม่พลิกแพลง หรือปรับให้เข้ากับคน วัฒนธรรม และวิถีการทำงานขององค์กร

7.องค์กรขาด "คุณอำนวย" หรือ ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดบรรยากาศ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

8.คนในองค์กรยังไม่เห็นคุณค่าใน "Tacit Knowledge" หรือ ความรู้ซ่อนเร้น ในตัวคน ที่ได้มาจากประสบการณ์จริง ได้มาจากการทำงานจริง ความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือแม้กระทั่งยังไม่เห็นคุณค่าของคนทำงานภายในองค์กรด้วยกันเอง

9.คนในองค์กรยังชอบ หรือหลงบูชา ความรู้ที่เป็น "Explicit Knowledge" หรือ ความรู้ชัดแจ้ง เพียงอย่างเดียวเพราะเห็นว่า "ความรู้" ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์หรือผ่านการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้วเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ หรือนับถือและเชื่อในความรู้ของคนต่างชาติมากกว่า

10.หลงว่าการจัดการความรู้ ต้องใช้ ICT เท่านั้น มีการลงทุนกับเทคโนโลยีที่มากจนเกินไป

11.คนในองค์กร อยากจะรู้เรื่อง KM ให้ชัดเจนจนละเอียดแจ่มแจ้งเสียก่อน จากการอบรม บรรยาย หรือการอ่านหนังสือ ฯลฯ โดยยังไม่คิดจะทำจริง หรือทดลองทำ ซึ่งการเข้าใจ KM หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ได้อย่างละเอียดชัดเจน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ (ผู้ปฏิบัติ คือ ผู้รู้จริง)

12.คิดกลัว หรือกังวล ในอุปสรรคต่างๆ นานาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จนท้อใจและไม่สามารถเริ่มปฏิบัติได้ ซึ่งการคิดและระมัดระวังอย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่ดีในการวางแผน แต่ไม่ควรนำมาปิดกั้นความมุ่งมั่น และการเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจไว้"
 
ที่มา : wikipedia - การจัดการความรู้ในภาคราชการ


      เราน่าจะลองสำรวจกันดูบ้างนะครับว่า การจัดการความรู้ในองค์กรของเราเป็นอย่างที่ว่านี้บ้่างหรือไม่  และก็น่าจะลองช่วยกันคิดกันว่า เราควรจะใช้ KM กันต่อไปอย่างไรดี

cartoon marine
อ้าว ! ยังไม่ลงมือทำ KM อีกหรือ ? ยึดพี้น 50



วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความรู้มือสอง กับ ความรู้แบบปลาซิวปลาสร้อย

          ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 “ขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย” ที่ไบเทค บางนา เมื่อ 1 ธ.ค. 49 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้กล่าวไว้ว่า

          "การสร้างและการใช้ความรู้ของสังคมไทยในปัจจุบัน มองในมุมหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้อยู่มากเพียงแต่ไม่รู้วิธีการนำความรู้ไปใช้ และอาจเคยชินกับการนำความรู้ทฤษฏี ซึ่งถือเป็นความรู้มือสองมาใช้ โดยไม่ได้ประยุกต์หรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งการนำมาใช้ให้เหมาะสมนั้นต้องผ่านการปฏิบัติการลงมือทำแล้วเกิดการเรียนรู้ นั่นจึงเป็นความรู้มือหนึ่ง หรือความรู้ที่สร้างขึ้นใช้เองและใช้ได้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ สคส.ต้องการขับเคลื่อนให้สังคมไทยสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง โดยพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมาแล้วนำไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงาน องค์กร ในทุกภาคส่วน

มองมุมหนึ่งการสร้างความรู้ขึ้นใช้เองอาจดูเหมือนยาก แต่เมื่อมีการรวมตัวกันและแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน เรื่องที่ยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย จากการได้ระดมความรู้ความคิดและหยิบส่วนดีของกันและกันมาใช้ ถือเป็น “เคล็ดลับ” ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำจริงของตัวเองและคนอื่น ๆ เกิดความชื่นชมยินดี แม้เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ของคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งความสำเร็จจากความรู้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เป็นเคล็ดลับของคนเหล่านี้เมื่อรวมกันก็จะเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ และงอกงามขึ้นเรื่อย ๆ

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ถือเป็นการปฏิวัติสังคมไทย ให้เห็นคุณค่าของความรู้ที่ตัวเองมีและสร้างขึ้นใช้เองได้ สร้างความมั่นใจและเคารพตัวเอง เราจึงพยายามหาทางช่วยกันแก้ปัญหาภาพใหญ่ในสังคม โดยการทำให้คนเล็กคนน้อยเกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการให้เขาลองทำ เขาจะรู้ว่าเขามีความรู้ดั้งเดิมอยู่เยอะ เช่น ความรู้จากภูมิปัญญา ความรู้จากประสบการณ์ทำงาน เมื่อไปเล่าแลกเปลี่ยนกับเพื่อนยิ่งเห็นว่าความรู้เกิดขึ้นมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แลกเปลี่ยนกันไปพร้อมกับการบันทึก ทำให้เห็นคุณค่าของความรู้ที่มี

ขณะที่ สคส. มี “คุณอำนวย” หรือ Facilitator ซึ่งหมายถึงผู้ทำหน้าที่ไปส่งเสริมให้เกิดการลองทำ ยิ่งทำให้คนเล็กคนน้อยเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น ตรงตามหลักจิตวิทยาที่ว่ามนุษย์ทุกคนใช้ความสามารถของความเป็นมนุษย์เพียง 10% ของที่ทุกคนมี เมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระบวนการเช่นนี้ทำให้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์ถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งหากคนทั้งสังคมรู้จักนำวิธีการนี้ไปใช้จะได้ประโยชน์มาก และนี่คือสภาพของสังคมอุดมปัญญา สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน หรือ Knowledge Based Society แต่ต้องเกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคม"

-----------------------------------------

           การจัดการความรู้ของส่วนราชการ (ซึ่งรวมไปถึงกองทัพเรือด้วย) บ่อยครั้งที่พวกเรามักจะตกลงไปในหลุมพราง คือเข้าใจและเหมาเอาว่า สิ่งที่ต้องการจากการ "ทำ" KM ก็คือ "ความรู้" จึงยึดเอาความรู้เป็นเป้าหมาย และความรู้ที่ต้องการก็มักจะเป็นความรู้ในเรื่องใหญ่ๆ ที่เมื่อนำมาโชว์กันแล้วจะได้ ดูีดี ขลัง อลังการและน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าเวลาจำกัดหรือจะให้ทันใจ ก็มักรวบรวมความรู้เหล่านี้มาจากทฤษฎีตามตำรับตำรา หรือจากที่ต่างๆ ภายนอกองค์กร โดยเฉพาะที่เป็น explicit knowledge (ความรู้ชัดแจ้ง)  อันจัดได้ว่าเป็น"ความรู้มือสอง" ส่วนความรู้เล็กๆ น้อยๆ ของบรรดา "คนเล็กๆ" ภายในองค์กร เรามักจะคิดกันว่าเป็นความรู้แบบ "ปลาซิว ปลาสร้อย" และเห็นว่า ทำไปก็ไม่ค่อยได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ทันใจและทันกิน ทั้งๆที่ ความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ในการทำงานของคนในองค์กร ซึ่งเป็น "ความรู้มือหนึ่ง" หรือความรู้แบบ"วัดตัวตัด" (tailor - made) ที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการทำงานของพวกเรา เพราะได้ผ่านการทดลองและปรับใช้มาแล้วนั่นเอง


ความรู้และัทักษะจากการทำงานเป็นสิ่งมีค่าสำหรับองค์กร

ความรู้แบบ ปลาซิว ปลาสร้อยที่ได้มาจากคนเล็กๆ ในองค์กร เหล่านี้ หากบริหารจัดการดีๆ และผ่านกระบวนการรวบรวมและสังเคราะห์ที่ดีแล้ว ก็จะเป็นความรู้ที่มีค่ามากกว่าความรู้เชิงทฤษฎีที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทดลองปฏิบัติมากมายหลายเท่านัก และยังเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบ่มเพาะนิสัยในการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อีกด้วย

เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในองค์กรเห็น KM เป็นภาพเดียวกัน เพราะตัว KM เองก็มีหลายแนว ทั้งแบบที่เน้นเทคโนโลยีและเครื่องมือ (Techno Centric) และแบบที่เน้นคนและกระบวนการ (People Centric) ซึ่งเราคงไม่อาจพูดได้ว่า แบบของใครถูกหรือผิด เพียงแต่เราต้องพิจารณาดูว่า แบบใดและแนวทางไหนจะตอบสนองความต้องการของกรมพลาธิการทหารเรือของเราได้ดีกว่าและยั่งยื่นมากกว่ากัน ซึ่งทางที่ดี เราควรเปิดใจกว้าง ยอมรับและหาจุดสมดูลระหว่างแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อองค์กรมากที่สุด

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลุมดำการจัดการความรู้ : KM ที่ถูกเข้าใจผิด

Black Holes Have Simple Feeding Habits (NASA, Chandra, 6/18/08)


        ความเสี่ยงหรือความท้าทายที่สุดในเรื่องการจัดการความรู้ในหน่วยราชการคือ การดำเนินการจัดการความรู้แบบ “ของปลอม” คือทำเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการจัดการความรู้ ไม่ได้เอาจริงเอาจังต่อผลของการจัดการความรู้ที่จะเกิดต่อองค์กร ต่อคนในองค์กร และต่อฐานความรู้ขององค์กร


        ความเสี่ยงประการที่ 2 คือดำเนินการจัดการความรู้แบบ “ผิดเป้า” ไม่ได้ตรวจสอบไตร่ตรองให้ดีว่าองค์กรหรือหน่วยงานมีภารกิจหลักคืออะไร หลงดำเนินการจัดการความรู้โดยมีเป้าหมายที่ไม่อยู่ในภารกิจหลักขององค์กร หรือหน่วยงาน ทำให้การจัดการความรู้แม้จะทำได้ดี แต่ก็เกิดผลต่อองค์กรน้อย การจัดการความรู้แบบนี้เข้าข่าย “ขยันแต่โง่”

อ.วิจารณ์ พานิช

mind map หลุมดำการจัดการความรู้
( คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย)
ที่มารูป : http://learners.in.th/file/bcpramote

***************************

 
การจัดการความรู้ ไม่ใช้ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
การจัดการความรู้ ไม่ใช่ การนำข้อมูลไป upload ขึ้นเว็บไซต์
การจัดการความรู้ ไม่ใช่ การเปลี่ยนแปลงการทำงานทันทีทันใด
การจัดการความรู้ ไม่ใช่ แค่การรวบรวมกฏระเบียบตำรา
การจัดการความรู้ ไม่ใช่ แค่การสกัดความรู้จากผู้ปฏิบัติงาน/ผู้เชี่ยวชาญ
การจัดการความรู้ ไม่ใช่ื แค่การส่งคนไปเรียนหรือการจัดการอบรม

การจัดการความรู้ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้บางคนได้รับ "เงินรางวัล" แต่เป็นสิ่งที่จะพัฒนาคนและหน่วยงานของเรา ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ถูกต้องขึ้น มีประสิทธิภาพมาขึ้น และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากเอกสารการบรรยาย น.อ. กิตตพงศ์ ทิพย์เสถียร

Escaping the Age of Speed

Escaping the Age of Speed: New Paradigms of Learning as Impacted by Social Technologies
โดย Teemu Arina

จาก web vcasmo เนื้อหาน่าสนใจดีครับ ตรงนี้ช่วยอธิบาย concept ของการใช้ Social Network ในการพัฒนาความรู้ของเราได้เป็นอย่างดี คิดว่าคงไม่ยากเกินไปสำหรับคนที่ภาษาอังกฤษพอจะแข็งแรงบ้าง เพราะ คนพูด Teemu Arina เป็นคนฟินแลนด์ ใช้ภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างง่าย





เรื่องนี้น่าจะให้ข้อคิดดีๆ สำหรับผู้บริหารและคนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลากรของหน่วยงานให้ตระหนักถึงกลไกทางสังคมและพฤฒิกรรมของมนุษย์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Social Technology ที่ช่วยให้เราก้าวไปถึง สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society)ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ท่านสามารถดูแบบ Full Screen (เต็มจอ) ได้ โดยคลิ๊กที่เครื่องหมาย "เล่น" ที่จอผู้พูดก่อน แล้วคลิ๊กที่เครื่องหมาย "แว่นขยาย + " ที่จอสไลด์ รวมทั้งสามารถรับชมแบบระบุ slide ได้ด้วย ซึ่ง vdo และ Slide จะ sync กันครับ