วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

Slide การบรรยาย KM

สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มศึกษาเรื่อง KM และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ ผมมี ppt.ของ น.อ. กิตติพงษ์ ทิพย์เสถียร ที่ได้ใช้ในการบรรยายให้พวกเราฟังเกี่ยวกับทฤษฎี หลักการของ KM ที่้่ห้องประชุม พธ.ทร.1 เมื่อสักปีหรือ 2 ปี มาแล้ว ซึ่งเป็นการบรรยายที่ดีมากครั้งหนึ่ง ถึงแม้ Slide อาจจะไม่สดใหม่ แต่หลักการความรู้ยังทันสมัย ใช้ได้ดีอยู่นะครับ

ถ้าใครอ่านและทำความเข้าใจ slide เหล่านี้ทั้งหมดแล้ว ผมว่าท่านก็น่าจะมีความรู้เพียงพอและพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่โลกของ KM แล้วละครับ

บรรยาย km พธ.รอบ2

ขอขอบคุณ น.อ. กิตติพงษ์ ทิพย์เสถียร

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

การใช้ Social Media ใน US Navy

ปัจจุบันเราคงได้ยินคำว่า Social Media ทางสื่ออื่นๆ กันอยู่บ่อยๆ ในการจัดการความรู้ ก็นิยมนำสื่อเหล่านี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย และสำหรับบล็อกซึ่งถือว่าเป็น Social media อย่างหนึ่งนั้น ก็มีคุณสมบัติที่เหมาะมากสำหรับนำมาใช้ในการจัดการความรู้และการสร้างนิสัยของการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

ใครที่ใช้ Internet บ่อยๆ คงจะเคยเห็นสื่อหรือสัญญลักษณ์ของ Social Network ต่างๆ เช่น Hi5 facebook myspace tweeter digg delicious ฯลฯ และคงพอจะทราบและตระหนักดีถึงพลังของของมันที่ได้เปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคมโลกไปอย่างมากมายมหาศาลแล้วนะครับ สำหรับการนำ Social Media มาใช้องค์กรต่างๆ น้ัน แม้ว่าอาจจะมีความกังวลในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในไม่ช้า หน่วยงานเหล่านี้ก็จะพบว่า ผู้คนในองค์กรได้หันเข้าหากันและมีความสัมพันธ์กันในลักษณะเป็นเครือข่ายโดยการใช้สื่อเหล่านี้ โดยที่ทางหน่วยงานไม่สามารถที่จะปิดกั้นได้เลย คนเหล่านี้จะนำ Social Media มาประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่อย่างมากมาย เช่น การหาเพื่อนในกลุ่มที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน การค้าเชิงธุรกิจ การตลาด การประชาสัมพันธ์ การเสาะแสวงหาความรู้ หรือแม้แต่ในทางการเมือง (ก็เช่นกลุ่ม Facebook ที่ค้านเรื่องจะยุบไม่ยุบกันอยู่ตอนนี้นั่นไง)

ผมเองก็สงสัยว่า หน่วยงานราชการในต่างประเทศ ได้มีการนำ Social Media ไปใช้ให้เป็นประโยชน์กันหรือไม่อย่างไร จนวันหนึ่งได้ดูรายการ "แบไต๋ ไฮเทค" ทางช่อง Nation (ผ่านทาง net) ซึ่งเขาเล่าว่า ในกองทัพสหรัฐฯ ได้มีการใช้สื่อเหล่านี้กันอยู่ทั่วไป โดยในตอนแรกๆ ทางกองทัพก็มีความเป็นห่วงเรื่อง Security นี้อยู่เหมือนกัน แต่เขาก็พบว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นกำลังพล และเมื่อมาพิจารณาว่า สื่อเหล่านี้มันก็มีประโยชน์และข้อดีในหลายๆ ด้านแถมยังฟรี (หรือเสียสตางค์น้อย) อีกต่างหาก ดังนั้น จากเดิมที่เคยออกกฎเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนให้ใช้ โดยกำหนดเป็นนโยบายและการขอความร่วมมือให้ระมัดระวังในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ซึ่งเจ้าของบัญชี Social Media เหล่านั้นจะต้องตรวจสอบและเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้่อหาที่อยู่ในสื่อของตัวเองครับ

ผมได้พบหลักฐานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน Slideshare.net ครับ นั่นก็คือ การที่ ทร.อเมริกัน ได้เปิด Channel ในเว็บดังกล่าวที่ชื่อว่า NavySlideshare ให้กำลังพลได้ใช้กัน ซึ่งแม้จะมี Slide อยู่ไม่มาก แต่ก็เป็นหลักฐานที่ดีอย่างหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายในเรื่องนี้ครับ

สำหรับใครที่สนใจในรายละเอียด วันนี้ผมมี Slide เกี่ยวกับเรื่อง US Navy Social Media มาฝากให้ชมกัน


.

 


ส่วนการที่ผมเลือกใช้บริการของ Blogger.com ซึ่งอยู่ในเครือ Google มาทดลองใช้ที่ รร.พธ.ฯ นั้น ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล หรือเรื่องความลับของทางราชการ นี่แหละ ผมเข้าใจครับว่า บางท่านอาจเป็นห่วงว่าการนำบริการ Social Network จากภายนอกมาใช้จะทำให้ความลับรั่วไหล ซึ่งเรื่องนี้ ผมก็มีข้อมูลและความคิดเห็นที่อยากจะนำเรียนให้ทราบเหมือนกัน แต่เกรงว่าบทความนี้มันจะยาวเกินไป เอาไว้วันหลังถ้ามีเวลาผมจะนำมาเสนอให้อ่านกันในบล็อกต่อไปก็แล้วกัน วันนี้ก็่ขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

เทคนิคการเป็นคุณอำนวยที่ดี

    ระหว่างที่ผมหาข้อมูลในการทำงาน ก็บังเอิญได้พบ ppt.อันนี้ใน docstoc.com ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เทคนิคการเป็น Facilitator (คุณอำนวย : ผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ หรือ วิทยากรกระบวนการ หรือบางทีก็เรียกกระบวนกร แล้วแต่จะสรรหามาเรียกกัน) ที่ดีครับ มีเทคนิคที่น่าสนใจทีเดียวเกี่ยวกับการทำหน้าที่เป็นผู้นำซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมบรรยากาศของการทำงานหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม เหมาะสำหรับมือใหม่ที่สนใจจะเป็น Fa อย่างจริงจังครับ



เทคนิคการเป็นผู้สนับสนุนที่ดี How to be good facilitator

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดการความรู้คืออะไร

คำถามแรกของคนที่เริ่มจะศึกษาเรื่อง KM เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็คือ "การจัดการความรู้คืออะไร ?" วันนี้ขอนำบทความอีกบทหนึ่ง ของ อ.วิจารณ์ พานิช มาให้อ่านกัน คิดว่าเมื่ออ่านจบแล้ว คงจะได้ความกระจ่าง และเข้าใจขึ้นมาบ้างว่า KM คืออะไรนะครับ



การจัดการความ รู้คืออะไร
(Knowledge Management - KM)

การจัดการความรู้ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า KM คือ เครื่องมือ เพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ดังนั้นการจัดการความรู้จึงไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง เมื่อไรก็ตามที่มีการเข้าใจผิด เอาการจัดการความรู้เป็นเป้าหมาย ความผิดพลาดก็เริ่มเดินเข้ามา อันตรายที่จะเกิดตามมาคือ การจัดการความรู้เทียม หรือ ปลอม เป็นการดำเนินการเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการจัดการความรู้เท่านั้นเอง

แรงจูงใจในการริ เริ่มการจัดการความรู้
แรงจูงใจแท้ต่อการดำเนินการจัดการความรู้ คือ เป้าหมายที่งาน คน และองค์กร เป็นเงื่อนไขสำคัญ ในระดับที่เป็นหัวใจสู่ความสำเร็จในการจัดการความรู้
แรงจูงใจเทียมต่อการดำเนินการจัดการความรู้ในสังคมไทย มีมากมายหลายแบบ เป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การทำการจัดการความรู้แบบเทียม และนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด เช่น ทำเพราะถูกบังคับตามข้อกำหนด กล่าวคือ ทำเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำ หรือทำเพื่อชื่อเสียง ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดูดี หรือมาจากความต้องการผลงานของหน่วยย่อยภายในองค์กร เช่น หน่วยพัฒนาบุคลากร (HRD) หน่วยสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) หรือหน่วยพัฒนาองค์กร (OD) ต้องการใช้การจัดการความรู้ในการสร้างความเด่น หรือสร้างผลงานของตน หรืออาจมาจากคนเพียงไม่กี่คน ที่ชอบของเล่นใหม่ๆ ชอบกิจกรรมที่ดูทันสมัย เป็นแฟชั่น แต่ไม่เข้าใจความหมายและวิธีการดำเนินการจัดการความรู้อย่างแท้จริง



KMI_KM






ประเภทความรู้ ความรู้อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ
  1. ความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเอกสาร หรือ วิชาการ อยู่ในตำรา คู่มือปฏิบัติงาน
  2. ความรู้ซ่อนเร้น/ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน เป็นภูมิปัญญา
โดยที่ความรู้ทั้ง ๒ ประเภทนี้มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน
การ จัดการ “ความรู้เด่นชัด” จะเน้นไปที่การเข้าถึงแหล่งความรู้ ตรวจสอบ และตีความได้ เมื่อนำไปใช้แล้วเกิดความรู้ใหม่ ก็นำมาสรุปไว้ เพื่อใช้อ้างอิง หรือให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ต่อไป (ดูวงจรทางซ้ายในรูป) ส่วนการจัดการ “ความรู้ซ่อนเร้น” นั้นจะเน้นไปที่การจัดเวทีเพื่อให้มีการแบ่งปันความรู้ที่อยู่ในตัวผู้ ปฏิบัติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อันนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ ที่แต่ละคนสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ต่อไป (ดูวงจรทางขวาในรูป)


KnowledgeCycleModel

ในชีวิตจริง ความรู้ ๒ ประเภทนี้จะเปลี่ยนสถานภาพ สลับปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา บางครั้ง Tacit ก็ออกมาเป็น Explicit และบางครั้ง Explicit ก็เปลี่ยนไปเป็น Tacit







โมเดลปลาทู





model_ParToo


“โมเดลปลาทู” เป็นโมเดลอย่างง่าย ที่เปรียบการจัดการความรู้ เหมือนกับปลาทูหนึ่งตัวที่มี ๓ ส่วน คือ
  1. ส่วน “หัวปลา” (Knowledge Vision- KV) หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำจัดการความรู้ ต้องตอบให้ได้ว่า “เราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร ?” โดย “หัวปลา” นี้จะต้องเป็นของ “คณกิจ” หรือ ผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด โดยมี “คุณเอื้อ” และ “คุณอำนวย” คอยช่วยเหลือ
  2. ส่วน “ตัวปลา” (Knowledge Sharing-KS) เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง “คุณอำนวย” จะมีบทบาทมากในการช่วยกระตุ้นให้ “คุณกิจ” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ในตัว “คุณกิจ” พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ ยกระดับความรู้ และเกิดนวัตกรรม
  3. ส่วน “หางปลา” (Knowledge Assets-KA) เป็นส่วนของ “คลังความรู้” หรือ “ขุมความรู้” ที่ได้จากการเก็บสะสม “เกร็ดความรู้” ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ตัวปลา” ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของ “หางปลา” นี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ICT ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้ที่เด่นชัด นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ พร้อมยกระดับต่อไป

ความรู้ยุคที่ 2

วันนี้เอาบทความของ อ. วิจารณ์ พานิช มาฝากครับ เป็นบทความเรื่อง "ความรู้ยุคที่ 2" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ มี.ค. 47 แบ่งเป็น 2 ตอนครับ

ตอนที่ 1: ความหลงผิดเรื่องความรู้

Hatching Egg

คอลัมน์ "ความรู้ยุคที่ 2" นี้ เป็นคอลัมน์สำหรับชวนท่านผู้อ่าน "พลิกสมอง" ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับความรู้ การทำงาน การบริหารจัดการหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุด ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเราเองครับ
ปรับเข้าสู่ "ยุคความรู้" ไงครับ
นั่นหมายความว่า "กระบวนทัศน์" ปัจจุบันของเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นอยู่ในสภาพ "ตกยุค" หรือล้าหลัง เพราะเรายังมีกระบวนทัศน์ของยุคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตแบบ mass production และมองมนุษย์เป็น "แรงงาน" กระบวนทัศน์นี้จะทำให้สังคมไทยเราล้าหลัง เพราะยุคนี้ต้องผลิตแบบ mass customization และต้องมองมนุษย์เป็น "ทุนปัญญา" หรือ "แรงสมอง" จึงจะสอดคล้องกับความเป็น "ยุคแห่งความรู้เป็นฐาน"
โลกเราเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคไอที เข้าสู่ยุคความรู้แล้วนะครับ
จึงต้องมีวิธีมอง "ความรู้" ในมุมมองใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่
วิธีมองความรู้แบบที่ผิด หรือแบบที่เกิดพลังน้อย คือ มองความรู้โดด ๆ แยกส่วนออกจากคน ความรู้จะมีพลังต้องเป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับคน นี่คือการพลิกกระบวนทัศน์ข้อที่ 1
ความรู้ที่แยกออกจากคน จะเป็นความรู้ที่ไร้ชีวิต ไร้วิญญาณ แข็งทื่อ คงที่ ไม่มีพลวัต ไม่มีความสามารถที่จะเจริญงอกงาม
ต่อเมื่อแนบแน่นอยู่กับคน ความรู้จึงจะมีชีวิต ดิ้นได้ ปรับตัวได้ ขยายตัวและเจริญงอกงามต่อไปได้ไม่มีสิ้นสุด เพราะ จริง ๆ แล้วจุดกำเนิดของความรู้คือ สมองของคน เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในสมอง ชี้แจงออกมาเป็นถ้อยคำหรือตัวอักษรได้ยาก เรียกว่า ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่จริงความรู้ที่ฝังลึกนี้ยังอยู่ในหัว (สมอง), ใจ (หัวใจ จิตใจ) และมือ (head, heart & hand) คือฝังอยู่ในความคิดความเข้าใจลึก ๆ (สมอง), อยู่ในความเชื่อ ค่านิยม ความศรัทธา (ใจ), และอยู่ในทักษะทางมือและทักษะอื่น ๆ ความรู้ฝังลึกนี้อยู่ในคน ถ่ายทอดโดยตรงจากคนสู่คนและตายไปกับคน
อารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักจารึกความรู้ฝังลึกออกมา เป็นความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง (explicit knowledge) คือ เป็นตัวหนังสือ รูปภาพ และรหัสแบบอื่น ๆ ความรู้เหล่านี้ไม่ตายไปกับคน และสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องสัมผัสกับคนที่เป็นต้นตอของความรู้ ความรู้แบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ความรู้ที่เข้ารหัส" (codified knowledge)
การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์เมื่อ 500 ปีก่อนโดยกูเต็นเบิร์ก ทำให้ความรู้เปิดเผยชัดแจ้งสามารถแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งเข้าสมัยไอที ยุคอินเตอร์เน็ต ความรู้ชนิดนี้ยิ่งเต็มบ้านเต็มเมืองจนกลายเป็น "ความรู้ขยะ" อย่างที่เราเผชิญกันอยู่
พอจะเห็นชัดใช่ไหมครับ ว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง (ก่อนจะมีแท่นพิมพ์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว) มนุษย์เราสัมผัสอยู่กับความรู้ชนิด "ความรู้ฝังลึก" ทั้งหมด เราเรียนแบบปากต่อปาก เรียนแบบฝึกทำด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ฝังลึกระหว่างกัน
เครื่องพิมพ์ หนังสือ ไอที และระบบการศึกษาได้มอบความเคยชินใหม่แก่มนุษย์ คือ "ความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง" เวลานี้เวลาเราพูดว่า "ความรู้" เราหมายถึงความรู้ชนิดนี้ ไม่ได้คิดถึงความรู้ในรูปแบบดั้งเดิมคือ "ความรู้ฝังลึก" เลย
มนุษย์เราหลงผิดในเรื่องความรู้ด้วยประการฉะนี้.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 1 มีนาคม 2547
วิจารณ์ พานิช


ตอนที่ 2: ยุคแห่งอิสรภาพและศักยภาพ

Hatching out 46/365

      ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้มี 2 แบบ คือ ความรู้ที่อยู่ในคน กับความรู้ที่ดึงออกจากคนเอามาไว้ในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ความรู้ในคน กับความรู้ในกระดาษ
มนุษย์ เราคุ้นเคยกับความรู้แบบหลังมา 500 ปี จนลืมไปว่ามีความรู้แบบแรกอยู่ด้วย และเกิดความหลงผิด ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เรียกว่าความรู้หมายถึง ความรู้ที่อยู่ในกระดาษหรืออยู่ในไอซีที (information & communication Technology) เท่านั้น นั่นคือความรู้ยุคที่ 1
ความรู้ยุคที่ 1 เป็นความรู้ที่ถูกแยกออกจากคน ถูกทดสอบและยกระดับจนถือว่าเป็น "ความรู้สากล" คือ เป็นจริงในทุกกาละและเทศะ เป็นความรู้ที่ไม่มีบริบท (context) คือเข้าใจกันว่าเป็นจริงในทุกบริบท หรือเป็นจริงในบริบทกลาง ๆ ไม่จำเพาะบริบท ความรู้เหล่านี้ผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงมีความน่าเชื่อถือสูง เป็นความรู้ที่เจาะลึกเฉพาะด้าน ที่เรียกว่าเป็นความรู้เฉพาะทาง (specialization) หรือเฉพาะสาขาวิชา (disciplinary) จึงเป็นความรู้ที่ผูกพันอยู่กับนักวิชาการหรือนักวิจัยเฉพาะด้าน ถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ผ่านระบบการศึกษา ผ่านวิธีการทางวิชาการ หรือผ่านการอ่าน
ความรู้ยุคที่ 1 ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่มนุษยชาติได้อย่าง มหัศจรรย์ และจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนอารยธรรมของมนุษย์ต่อไปอีกช้านาน
ความ รู้ยุคที่ 1 เน้นความรู้ในกระดาษ เป็นความรู้ของคนส่วนน้อย หรือกล่าวได้ว่ามีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถมีความรู้ชนิดนี้มาก ๆ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรามักเรียกคนเหล่านี้ว่า "ผู้มีปัญญา" หรือมีความรู้
ถ้าเราเชื่อตามแนวคิดความรู้ยุคที่ 1 นี้ เราก็จะสรุปว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา เราก็จะไม่สนใจที่จะใช้ความรู้ของคนเหล่านี้ โลกทัศน์แบบนี้จึงเป็นโลกทัศน์ที่คับแคบ และทำให้ไม่หาวิธีใช้ความรู้หรือปัญญาของคนทุกคนในองค์กร หรือในสังคม
ยุคแห่งความรู้ คือยุคที่องค์กรหรือสังคม ใช้ความรู้หรือปัญญาของทุกคนในองค์กร หรือในสังคม
โลกทัศน์ ในยุคแห่งความรู้จึงต้องเป็นโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนใช้ความรู้และสร้างความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้ความรู้และสร้างความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงานหรือวิถีชีวิตของตนเอง และแนบแน่นอยู่กับปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือร่วมชุมชน
ความ รู้ยุคที่ 2 จึงเน้นความรู้ในคน หรืออยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคน (คือวัฒนธรรม)
การ ค้นพบความรู้ยุคที่ 2 เป็นการค้นพบ "สมบัติดั้งเดิม" ก่อนที่มนุษย์จะค้นพบความรู้ยุคที่ 1 คือ เท่ากับอารยธรรมของมนุษย์วนกลับไปเอาใจใส่ความรู้สมัยก่อนการประดิษฐ์แท่น พิมพ์และเทคโนโลยีไอซีทีนั่นเอง
การกลับมาค้นพบ (rediscover) ความรู้ยุคที่ 2 เป็นการปลดปล่อยอิสรภาพและศักยภาพของมนุษย์
ภายใต้โลกทัศน์ความรู้ยุคที่ 1 มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น "ผู้มีความรู้" แต่ภายใต้โลกทัศน์ความรู้ยุคที่ 2 คนทุกคนเป็นผู้มีความรู้ เพราะทุกคนทำงาน ทุกคนมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงย่อมมีความรู้ฝังลึกอันเกิดจากการทำงานและการมีความสัมพันธ์นั้นที่เรียก ว่า ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์
โลกทัศน์ แบบความรู้ยุคที่ 2 มีคุณประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ทำให้มนุษย์เราเคารพซึ่งกันและกัน ว่าต่างก็มีความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเล็กคนน้อยจะไม่ถูกดูถูกว่าไม่มีความรู้ ประการที่ 2 ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเชื่อเช่นนี้ สามารถใช้ศักยภาพแฝงของคนทุกคนในองค์กร มาสร้างผลงาน สร้างนวัตกรรมให้แก่องค์กร ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
จึง ไม่น่าแปลกใจ ที่ความรู้ความเข้าใจ และวิธีการดึงเอาความรู้ยุคที่ 2 มาใช้งาน เกิดขึ้นในวงการธุรกิจ ซึ่งมีการแข่งขันสูง วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การจัดการความรู้ (knowledge management)
เปรียบ เทียบความรู้ยุคที่ 1 กับ ความรู้ยุคที่ 2
ความรู้ยุคที่ 1
ความรู้ยุคที่ 2
  • เน้น "ความรู้ในกระดาษ" (explicit knowledge)
  • ไร้บริบท (context-free)
  • เน้นการพิสูจน์เหตุ-ผล
  • เป็นความรู้เฉพาะด้าน
  • มีได้เฉพาะใน "ผู้มีความรู้"
  • ลอยตัว เลื่อนไหลได้ง่าย
  • เน้น "ความรู้ในคน" (tacit knowledge)
  • ผูกพันกับบริบท (context specific)
  • เน้นผลในการใช้งาน
  • เน้นความรู้บูรณาการ
  • มีอยู่ในทุกคนที่ทำงาน หรือดำรงชีวิต
  • ผูกพันอยู่กับงาน อยู่ในตัวคน
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8 มีนาคม 2547
วิจารณ์ พานิช

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

กลอน KM สนุกๆ

ผมชอบเข้าไปอ่านหาความรู้ใน gotoknow บ่อยๆ วันนี้ไปเจอกลอนสนุกๆ แต่งโดยเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งเก่งมาก (เป็นนักกลอนและนักกิจกรรมตัวยง) เห็นว่ามันเบาๆ ดี เลยเอามาให้อ่านกันเล่นๆ แต่ก็ได้ความรู้ดีครับ อย่างน้อยก็รู้ว่า Tacit Knowledge กับ Explicit Knowledge คืออะไร


ขอกล่าวสุนทร .........เป็นกลอนโมเด็ม
เล่าเรื่องเคเอ็ม......... เติมเต็มหลากหลาย
จัดการความรู้..........มีอยู่มากมาย
กระจัด กระจาย.........มาไว้ใช้กัน
ความรู้ทั้งผอง.........มีสองชนิด
หนึ่ง เรียกทาสิต.........ฝังติดตนนั่น
เป็นภูมิปัญญา .........คุณค่าอนันต์
เราต้องจัดสรร.........ดึงมันออกมา
สอง เอ็กพลีสิต........เป็นทฤษฏี
ความรู้เหล่านี้..........เด่นชัดหนัก หนา
อยู่ในคู่มือ...........หนังสือตำรา
เอกสารวิชา........... ค้นคว้ามาดู

จาก โก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง  แห่ง gotoknow