วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรู้มือหนึ่ง ที่แสนจะเล็กจิ๋ว แต่มีความหมายยิ่งใหญ่

       ไม่ได้แวะเวียนมาเขียนบล็อกเสียนาน เพราะตอนนี้ไม่มีเวลาเนื่องจากย้ายที่ทำงานไปที่ พธ.ทร.แล้ว ต้องขับรถไกล ตื่นแต่เช้ามืด ทำให้นอนดึกๆ ไม่ได้อีก เวลาจะเข้าเน็ตแทบไม่มี วันนี้ขอแก้ขัดด้วยบทความของคุณ Thawat ใน gotoknow.org  (http://gotoknow.org/blog/learn-together/349787) ซึ่งอ่านแล้วชอบ ตรงใจ คล้ายๆกับบทความที่ผมเคยเขียนไว้เหมือนกันเลยเอามาฝากดังนี้



       มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยสนใจกับความรู้ปฏิบัติ   ซึ่งผมขอเรียกว่า "ความรู้มือหนึ่ง" หรือตรงกับความหมายเชิงวิชาการที่เรียกว่า Tacit Knowledge ของคนทำงานก็แล้วกัน
จากคำถามจาก workshop หลายๆครั้ง ที่มักถามว่า  "เราลงทุนไปตั้งเยอะ  แล้วได้เพียงแค่ความรู้จากเรื่องเล่าแบบนี้เองหรือ?" 

       ผมกลับมาพิจารณาอ่านแล้ว อ่านอีก  อ่านเรื่องเล่าความสำเร็จเล็กๆได้มาจากที่ต่างๆ
เห็นว่ามันเล็กจริงๆ  มันเป็นเพียงเรื่องจากเหตุการณ์เดียว  บางเรื่องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของคนคนเดียวเสียด้วยซ้ำ   ประเด็นนี้ชัดเจนครับว่ามันเล็กจริงๆ มันเลยไม่ค่อยทันใจซักเท่าไร  สำหรับคนที่ต้องมารับหน้าที่ดูแล การจัดการความรู้ขององค์กร   ซึ่งอยากเห็นความรู้ใหญ่ๆโตๆ  ที่สำคัญและจำเป็นต่อองค์กรอย่างยิ่งยวด  มันนำไปอธิบายผู้บริหารไม่ได้แบบเต็มปากเต็มคำ  เลยไม่ค่อยอินเท่าไร

       แต่หากถามความเห็นผมต่อเรื่องนี้  ผมมองคุณค่าของ "ความรู้ปฏิบัติ" ของคนทำงานอย่างนี้ครับ
คำถามแรก  ผมกลับถามว่า - องค์กรอยากได้คนแบบไหนเข้าทำงานระหว่าง  "คนที่เสพความรู้"  กับ  "คนที่สร้างความรู้"

       คำถามที่สอง  - โลกของการงานในองค์การใดๆก็ตาม  เราต้องการให้คนของเราเรียนรู้แบบไหน?  ระหว่าง    "เรียนเพื่อรู้" (Learn to know) กับ "เรียนเพื่อนำกลับไปทำได้" (Learn to do) ด้วยคำถามเหล่านี้มันทำให้ผมค่อยๆเชื่อมโยงและเข้าใจว่า...การที่เรามีคนทำงานซึ่งมีลักษณะนิสัย พฤติกรรมใส่ใจกับการงานที่ทำอยู่ตรงหน้า  ไม่สนใจว่างานนั้นจะเล็กหรือใหญ่  พยายามค้นหาคำตอบของการทำงานให้กับตัวเองเสมอว่า  "ยังมีวิธีทำงานแบบอื่นอีกไหม ที่จะทำให้งานของเขาไม่เกิดปัญหานี้อีก  หรือทำให้การทำงานง่ายกว่านี้อีก  หรือการทำงานไม่เกิดความเสี่ยงอย่างนี้อีก  หรือ ทำงานที่ลดต้นทุนกว่านี้อีก  หรือทำงานมีคุณภาพได้มากกว่านี้อีก ฯลฯ?" 

       หากคนในองค์กรในทุกระดับ  มีพฤติกรรมเช่นนี้  ท่านคิดว่ามันพอที่จะมีพลังนำพาองค์กรไปสู่  องค์กรนวัตกรรม  หรือว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้หรือไม่?

       แต่พฤติกรรมการเรียนรู้ในการทำงานของคนมันมักสะท้อนออกมาให้เห็นเป็น รูปธรรมเล็ก  ที่พอจะอนุมานได้ว่า  "เขาเอาใจใส่กับการงาน ที่เขากำลังทำอยู่นั่นเอง"

       ความรู้มือหนึ่งของคนทำงาน  เกิดขึ้นจากการที่คนต้องเอาใจใส่   สังเกต  คิดหาวิธี  ตั้งโจทย์คำถาม (คล้ายๆนิสัยนักวิจัย)  ทดลองทำ หาคำตอบด้วยการทำเอง  แต่สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแบบเล็กๆ  จิ๋วๆ  คนจึงมักมองข้ามคุณค่ามัน

       คนขายก๊วยเตี๋ยวมืออาชีพ  กับ คนขายก๊วยเตี๋ยวมือใหม่  ต่างกันตรงไหน?  ไม่ใช่ต่างกันที่ทริค  กลเม็ด เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้หรือ  แล้วสังเกตความต่างได้จากอะไรบ้าง? ยิ่งองค์กรใดที่มีคนจำนวนมาก  มีพฤติกรรมใส่ใจกับการทำงาน  ด้วยการพยายามสร้าง "ความรู้มือหนึ่ง" มาใช้เองและเผยแพร่ไปยังเพื่อนร่วมงานมากเท่าไร?  ความรู้ก็จะยิ่งขยายใหญ่ได้เร็วเท่านั้น

       แต่น่าเสียดาย  ที่พอตั้งต้น   องค์กรก็มักจะหลงไหลความรู้ใหญ่ๆก่อน  ที่อาจจะเป็นความรู้ซึ่งผ่านมาหลายมือแล้ว   พยายามจัดการความรู้แบบนี้ก่อน  แต่ลืมคิดไปว่า  แม้จะมีความรู้ชั้นเทพ  มาวางอยู่ข้างหน้า  มันอาจจะมีค่าเพียงเพชร  ที่วางอยู่หน้าไก่  ก็อาจเป็นได้   เพราะว่าคนของเรายังไม่มีทักษะในการเจียรนัยความรู้มาใช้กับงานได้

       ความเป็นมืออาชีพ  ที่ผมเข้าใจตอนนี้  ผมตั้งสมมติฐานว่าเกิดจากทักษะการเรียนรู้ของตัวเอง  เช่น  การฟัง  การอ่าน  การตั้งคำถาม การสังเกต และการทดลอง ที่ค่อยๆพัฒนาจนได้ระดับความลึกในเชิงคุณภาพ  คนที่เป็นมืออาชีพ  ตามที่ว่านั่น  มีความสามารถในเรียนรู้ได้สูง  เรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัวและนำกลับมาใช้กับการงานเฉพาะทาง หรือชีวิตส่วนตัวของเขาได้

       แต่คนที่ความสามารถในการเรียนรู้ที่ยังไม่ถึงขั้น  มักจะต้องร้องขอตัวอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทเดียวกับที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ ความรู้มือหนึ่ง - สำหรับผมแล้ว  มันคือสัญญานบอกให้เรารู้ว่า  คนของเรา  เพื่อนของเราไม่ว่าจะตัวเล็ก ตัวใหญ่แค่ไหนตำแหน่งหน้าที่อะไร  เขาผู้นั้น กำลังเข้าสู่ภพภูมิของผู้สร้างความรู้  

       แล้วท่านหล่ะไม่อยากเห็นคนในองค์กร  ในชุมชนของท่านแสดงพฤติกรรมเยี่ยงนี้บ้างหรือ?
และที่สำคัญ  ความรู้ปฏิบัติเล็กๆ ที่ว่านี้  มันมีอยู่แทบทุกที่  เห็นจากคนแทบทุกระดับไม่ว่าคนคนนั้นจะมีการศึกษามากน้อยเพียงใดก็ตาม