วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

ความรู้ยุคที่ 2

วันนี้เอาบทความของ อ. วิจารณ์ พานิช มาฝากครับ เป็นบทความเรื่อง "ความรู้ยุคที่ 2" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ มี.ค. 47 แบ่งเป็น 2 ตอนครับ

ตอนที่ 1: ความหลงผิดเรื่องความรู้

Hatching Egg

คอลัมน์ "ความรู้ยุคที่ 2" นี้ เป็นคอลัมน์สำหรับชวนท่านผู้อ่าน "พลิกสมอง" ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับความรู้ การทำงาน การบริหารจัดการหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุด ปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเราเองครับ
ปรับเข้าสู่ "ยุคความรู้" ไงครับ
นั่นหมายความว่า "กระบวนทัศน์" ปัจจุบันของเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นอยู่ในสภาพ "ตกยุค" หรือล้าหลัง เพราะเรายังมีกระบวนทัศน์ของยุคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตแบบ mass production และมองมนุษย์เป็น "แรงงาน" กระบวนทัศน์นี้จะทำให้สังคมไทยเราล้าหลัง เพราะยุคนี้ต้องผลิตแบบ mass customization และต้องมองมนุษย์เป็น "ทุนปัญญา" หรือ "แรงสมอง" จึงจะสอดคล้องกับความเป็น "ยุคแห่งความรู้เป็นฐาน"
โลกเราเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคไอที เข้าสู่ยุคความรู้แล้วนะครับ
จึงต้องมีวิธีมอง "ความรู้" ในมุมมองใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่
วิธีมองความรู้แบบที่ผิด หรือแบบที่เกิดพลังน้อย คือ มองความรู้โดด ๆ แยกส่วนออกจากคน ความรู้จะมีพลังต้องเป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับคน นี่คือการพลิกกระบวนทัศน์ข้อที่ 1
ความรู้ที่แยกออกจากคน จะเป็นความรู้ที่ไร้ชีวิต ไร้วิญญาณ แข็งทื่อ คงที่ ไม่มีพลวัต ไม่มีความสามารถที่จะเจริญงอกงาม
ต่อเมื่อแนบแน่นอยู่กับคน ความรู้จึงจะมีชีวิต ดิ้นได้ ปรับตัวได้ ขยายตัวและเจริญงอกงามต่อไปได้ไม่มีสิ้นสุด เพราะ จริง ๆ แล้วจุดกำเนิดของความรู้คือ สมองของคน เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในสมอง ชี้แจงออกมาเป็นถ้อยคำหรือตัวอักษรได้ยาก เรียกว่า ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่จริงความรู้ที่ฝังลึกนี้ยังอยู่ในหัว (สมอง), ใจ (หัวใจ จิตใจ) และมือ (head, heart & hand) คือฝังอยู่ในความคิดความเข้าใจลึก ๆ (สมอง), อยู่ในความเชื่อ ค่านิยม ความศรัทธา (ใจ), และอยู่ในทักษะทางมือและทักษะอื่น ๆ ความรู้ฝังลึกนี้อยู่ในคน ถ่ายทอดโดยตรงจากคนสู่คนและตายไปกับคน
อารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักจารึกความรู้ฝังลึกออกมา เป็นความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง (explicit knowledge) คือ เป็นตัวหนังสือ รูปภาพ และรหัสแบบอื่น ๆ ความรู้เหล่านี้ไม่ตายไปกับคน และสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องสัมผัสกับคนที่เป็นต้นตอของความรู้ ความรู้แบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ความรู้ที่เข้ารหัส" (codified knowledge)
การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์เมื่อ 500 ปีก่อนโดยกูเต็นเบิร์ก ทำให้ความรู้เปิดเผยชัดแจ้งสามารถแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งเข้าสมัยไอที ยุคอินเตอร์เน็ต ความรู้ชนิดนี้ยิ่งเต็มบ้านเต็มเมืองจนกลายเป็น "ความรู้ขยะ" อย่างที่เราเผชิญกันอยู่
พอจะเห็นชัดใช่ไหมครับ ว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง (ก่อนจะมีแท่นพิมพ์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว) มนุษย์เราสัมผัสอยู่กับความรู้ชนิด "ความรู้ฝังลึก" ทั้งหมด เราเรียนแบบปากต่อปาก เรียนแบบฝึกทำด้วยกัน อยู่ด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ฝังลึกระหว่างกัน
เครื่องพิมพ์ หนังสือ ไอที และระบบการศึกษาได้มอบความเคยชินใหม่แก่มนุษย์ คือ "ความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้ง" เวลานี้เวลาเราพูดว่า "ความรู้" เราหมายถึงความรู้ชนิดนี้ ไม่ได้คิดถึงความรู้ในรูปแบบดั้งเดิมคือ "ความรู้ฝังลึก" เลย
มนุษย์เราหลงผิดในเรื่องความรู้ด้วยประการฉะนี้.
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 1 มีนาคม 2547
วิจารณ์ พานิช


ตอนที่ 2: ยุคแห่งอิสรภาพและศักยภาพ

Hatching out 46/365

      ในตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้มี 2 แบบ คือ ความรู้ที่อยู่ในคน กับความรู้ที่ดึงออกจากคนเอามาไว้ในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ความรู้ในคน กับความรู้ในกระดาษ
มนุษย์ เราคุ้นเคยกับความรู้แบบหลังมา 500 ปี จนลืมไปว่ามีความรู้แบบแรกอยู่ด้วย และเกิดความหลงผิด ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เรียกว่าความรู้หมายถึง ความรู้ที่อยู่ในกระดาษหรืออยู่ในไอซีที (information & communication Technology) เท่านั้น นั่นคือความรู้ยุคที่ 1
ความรู้ยุคที่ 1 เป็นความรู้ที่ถูกแยกออกจากคน ถูกทดสอบและยกระดับจนถือว่าเป็น "ความรู้สากล" คือ เป็นจริงในทุกกาละและเทศะ เป็นความรู้ที่ไม่มีบริบท (context) คือเข้าใจกันว่าเป็นจริงในทุกบริบท หรือเป็นจริงในบริบทกลาง ๆ ไม่จำเพาะบริบท ความรู้เหล่านี้ผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงมีความน่าเชื่อถือสูง เป็นความรู้ที่เจาะลึกเฉพาะด้าน ที่เรียกว่าเป็นความรู้เฉพาะทาง (specialization) หรือเฉพาะสาขาวิชา (disciplinary) จึงเป็นความรู้ที่ผูกพันอยู่กับนักวิชาการหรือนักวิจัยเฉพาะด้าน ถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ผ่านระบบการศึกษา ผ่านวิธีการทางวิชาการ หรือผ่านการอ่าน
ความรู้ยุคที่ 1 ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่มนุษยชาติได้อย่าง มหัศจรรย์ และจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนอารยธรรมของมนุษย์ต่อไปอีกช้านาน
ความ รู้ยุคที่ 1 เน้นความรู้ในกระดาษ เป็นความรู้ของคนส่วนน้อย หรือกล่าวได้ว่ามีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถมีความรู้ชนิดนี้มาก ๆ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรามักเรียกคนเหล่านี้ว่า "ผู้มีปัญญา" หรือมีความรู้
ถ้าเราเชื่อตามแนวคิดความรู้ยุคที่ 1 นี้ เราก็จะสรุปว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา เราก็จะไม่สนใจที่จะใช้ความรู้ของคนเหล่านี้ โลกทัศน์แบบนี้จึงเป็นโลกทัศน์ที่คับแคบ และทำให้ไม่หาวิธีใช้ความรู้หรือปัญญาของคนทุกคนในองค์กร หรือในสังคม
ยุคแห่งความรู้ คือยุคที่องค์กรหรือสังคม ใช้ความรู้หรือปัญญาของทุกคนในองค์กร หรือในสังคม
โลกทัศน์ ในยุคแห่งความรู้จึงต้องเป็นโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนใช้ความรู้และสร้างความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้ความรู้และสร้างความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงานหรือวิถีชีวิตของตนเอง และแนบแน่นอยู่กับปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือร่วมชุมชน
ความ รู้ยุคที่ 2 จึงเน้นความรู้ในคน หรืออยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคน (คือวัฒนธรรม)
การ ค้นพบความรู้ยุคที่ 2 เป็นการค้นพบ "สมบัติดั้งเดิม" ก่อนที่มนุษย์จะค้นพบความรู้ยุคที่ 1 คือ เท่ากับอารยธรรมของมนุษย์วนกลับไปเอาใจใส่ความรู้สมัยก่อนการประดิษฐ์แท่น พิมพ์และเทคโนโลยีไอซีทีนั่นเอง
การกลับมาค้นพบ (rediscover) ความรู้ยุคที่ 2 เป็นการปลดปล่อยอิสรภาพและศักยภาพของมนุษย์
ภายใต้โลกทัศน์ความรู้ยุคที่ 1 มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น "ผู้มีความรู้" แต่ภายใต้โลกทัศน์ความรู้ยุคที่ 2 คนทุกคนเป็นผู้มีความรู้ เพราะทุกคนทำงาน ทุกคนมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงย่อมมีความรู้ฝังลึกอันเกิดจากการทำงานและการมีความสัมพันธ์นั้นที่เรียก ว่า ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์
โลกทัศน์ แบบความรู้ยุคที่ 2 มีคุณประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ทำให้มนุษย์เราเคารพซึ่งกันและกัน ว่าต่างก็มีความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเล็กคนน้อยจะไม่ถูกดูถูกว่าไม่มีความรู้ ประการที่ 2 ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเชื่อเช่นนี้ สามารถใช้ศักยภาพแฝงของคนทุกคนในองค์กร มาสร้างผลงาน สร้างนวัตกรรมให้แก่องค์กร ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
จึง ไม่น่าแปลกใจ ที่ความรู้ความเข้าใจ และวิธีการดึงเอาความรู้ยุคที่ 2 มาใช้งาน เกิดขึ้นในวงการธุรกิจ ซึ่งมีการแข่งขันสูง วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การจัดการความรู้ (knowledge management)
เปรียบ เทียบความรู้ยุคที่ 1 กับ ความรู้ยุคที่ 2
ความรู้ยุคที่ 1
ความรู้ยุคที่ 2
  • เน้น "ความรู้ในกระดาษ" (explicit knowledge)
  • ไร้บริบท (context-free)
  • เน้นการพิสูจน์เหตุ-ผล
  • เป็นความรู้เฉพาะด้าน
  • มีได้เฉพาะใน "ผู้มีความรู้"
  • ลอยตัว เลื่อนไหลได้ง่าย
  • เน้น "ความรู้ในคน" (tacit knowledge)
  • ผูกพันกับบริบท (context specific)
  • เน้นผลในการใช้งาน
  • เน้นความรู้บูรณาการ
  • มีอยู่ในทุกคนที่ทำงาน หรือดำรงชีวิต
  • ผูกพันอยู่กับงาน อยู่ในตัวคน
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8 มีนาคม 2547
วิจารณ์ พานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น