วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความรู้มือสอง กับ ความรู้แบบปลาซิวปลาสร้อย

          ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 “ขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย” ที่ไบเทค บางนา เมื่อ 1 ธ.ค. 49 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้กล่าวไว้ว่า

          "การสร้างและการใช้ความรู้ของสังคมไทยในปัจจุบัน มองในมุมหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้อยู่มากเพียงแต่ไม่รู้วิธีการนำความรู้ไปใช้ และอาจเคยชินกับการนำความรู้ทฤษฏี ซึ่งถือเป็นความรู้มือสองมาใช้ โดยไม่ได้ประยุกต์หรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งการนำมาใช้ให้เหมาะสมนั้นต้องผ่านการปฏิบัติการลงมือทำแล้วเกิดการเรียนรู้ นั่นจึงเป็นความรู้มือหนึ่ง หรือความรู้ที่สร้างขึ้นใช้เองและใช้ได้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ สคส.ต้องการขับเคลื่อนให้สังคมไทยสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง โดยพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมาแล้วนำไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงาน องค์กร ในทุกภาคส่วน

มองมุมหนึ่งการสร้างความรู้ขึ้นใช้เองอาจดูเหมือนยาก แต่เมื่อมีการรวมตัวกันและแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน เรื่องที่ยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย จากการได้ระดมความรู้ความคิดและหยิบส่วนดีของกันและกันมาใช้ ถือเป็น “เคล็ดลับ” ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำจริงของตัวเองและคนอื่น ๆ เกิดความชื่นชมยินดี แม้เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ของคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งความสำเร็จจากความรู้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เป็นเคล็ดลับของคนเหล่านี้เมื่อรวมกันก็จะเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ และงอกงามขึ้นเรื่อย ๆ

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ถือเป็นการปฏิวัติสังคมไทย ให้เห็นคุณค่าของความรู้ที่ตัวเองมีและสร้างขึ้นใช้เองได้ สร้างความมั่นใจและเคารพตัวเอง เราจึงพยายามหาทางช่วยกันแก้ปัญหาภาพใหญ่ในสังคม โดยการทำให้คนเล็กคนน้อยเกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการให้เขาลองทำ เขาจะรู้ว่าเขามีความรู้ดั้งเดิมอยู่เยอะ เช่น ความรู้จากภูมิปัญญา ความรู้จากประสบการณ์ทำงาน เมื่อไปเล่าแลกเปลี่ยนกับเพื่อนยิ่งเห็นว่าความรู้เกิดขึ้นมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แลกเปลี่ยนกันไปพร้อมกับการบันทึก ทำให้เห็นคุณค่าของความรู้ที่มี

ขณะที่ สคส. มี “คุณอำนวย” หรือ Facilitator ซึ่งหมายถึงผู้ทำหน้าที่ไปส่งเสริมให้เกิดการลองทำ ยิ่งทำให้คนเล็กคนน้อยเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น ตรงตามหลักจิตวิทยาที่ว่ามนุษย์ทุกคนใช้ความสามารถของความเป็นมนุษย์เพียง 10% ของที่ทุกคนมี เมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระบวนการเช่นนี้ทำให้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์ถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งหากคนทั้งสังคมรู้จักนำวิธีการนี้ไปใช้จะได้ประโยชน์มาก และนี่คือสภาพของสังคมอุดมปัญญา สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน หรือ Knowledge Based Society แต่ต้องเกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคม"

-----------------------------------------

           การจัดการความรู้ของส่วนราชการ (ซึ่งรวมไปถึงกองทัพเรือด้วย) บ่อยครั้งที่พวกเรามักจะตกลงไปในหลุมพราง คือเข้าใจและเหมาเอาว่า สิ่งที่ต้องการจากการ "ทำ" KM ก็คือ "ความรู้" จึงยึดเอาความรู้เป็นเป้าหมาย และความรู้ที่ต้องการก็มักจะเป็นความรู้ในเรื่องใหญ่ๆ ที่เมื่อนำมาโชว์กันแล้วจะได้ ดูีดี ขลัง อลังการและน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าเวลาจำกัดหรือจะให้ทันใจ ก็มักรวบรวมความรู้เหล่านี้มาจากทฤษฎีตามตำรับตำรา หรือจากที่ต่างๆ ภายนอกองค์กร โดยเฉพาะที่เป็น explicit knowledge (ความรู้ชัดแจ้ง)  อันจัดได้ว่าเป็น"ความรู้มือสอง" ส่วนความรู้เล็กๆ น้อยๆ ของบรรดา "คนเล็กๆ" ภายในองค์กร เรามักจะคิดกันว่าเป็นความรู้แบบ "ปลาซิว ปลาสร้อย" และเห็นว่า ทำไปก็ไม่ค่อยได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ทันใจและทันกิน ทั้งๆที่ ความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ในการทำงานของคนในองค์กร ซึ่งเป็น "ความรู้มือหนึ่ง" หรือความรู้แบบ"วัดตัวตัด" (tailor - made) ที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการทำงานของพวกเรา เพราะได้ผ่านการทดลองและปรับใช้มาแล้วนั่นเอง


ความรู้และัทักษะจากการทำงานเป็นสิ่งมีค่าสำหรับองค์กร

ความรู้แบบ ปลาซิว ปลาสร้อยที่ได้มาจากคนเล็กๆ ในองค์กร เหล่านี้ หากบริหารจัดการดีๆ และผ่านกระบวนการรวบรวมและสังเคราะห์ที่ดีแล้ว ก็จะเป็นความรู้ที่มีค่ามากกว่าความรู้เชิงทฤษฎีที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทดลองปฏิบัติมากมายหลายเท่านัก และยังเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบ่มเพาะนิสัยในการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อีกด้วย

เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในองค์กรเห็น KM เป็นภาพเดียวกัน เพราะตัว KM เองก็มีหลายแนว ทั้งแบบที่เน้นเทคโนโลยีและเครื่องมือ (Techno Centric) และแบบที่เน้นคนและกระบวนการ (People Centric) ซึ่งเราคงไม่อาจพูดได้ว่า แบบของใครถูกหรือผิด เพียงแต่เราต้องพิจารณาดูว่า แบบใดและแนวทางไหนจะตอบสนองความต้องการของกรมพลาธิการทหารเรือของเราได้ดีกว่าและยั่งยื่นมากกว่ากัน ซึ่งทางที่ดี เราควรเปิดใจกว้าง ยอมรับและหาจุดสมดูลระหว่างแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อองค์กรมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น