วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

KM ชอบความหลากหลาย

   ท่านคิดว่าใน พธ.ทร.ของเรา เวลาทำงานหรือประชุม เราชอบที่จะเถียงเพื่อเอาชนะกันในทุกๆ เรื่องหรือไม่ครับ

   คนเราเวลาคิดหรือเรียนรู้อะไรแล้ว ประสบการณ์หรือพื้นฐานเดิมจะเป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือการแสดงออกของเราแทบทั้งสิ้น นั่นก็เพราะเราต่างก็มีสมมุติฐานที่ได้รับรู้มาจากประสบการณ์ส่วนต้วด้วยกันทุกคน

   KM สอนให้รู้จักรับฟังผู้อื่น ไม่ใช่ฝืนฟังหรือทนฟัง แต่ฟังให้ได้ยิน แบบที่เขาเรียกว่า Deep Listening  คืออย่าเพิ่งด่วนตัดสินความคิดหรือความรู้ของคนอื่นด้วยสมมุติฐานของเราว่า ถูกหรือผิด หรือไม่ดีเท่ากับของตัวเราเอง หรือคิดว่าไอ้ที่คุณพูดมาน่ะเป็นความรู้กระจอกๆ ที่ใครๆ เขาก็รู้แล้วทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้ว KM สอนให้เราเปิดใจให้กว้างไว้ก่อน ลดอัตตาตัวตนลงบ้าง เพราะของทุกสิ่งมันมีหลายแง่มุม ก็ขนาดเหรียญยังมีสองด้านนี่ครับ ถ้าเราจะเชื่อตามที่เขาว่ามา ผมก็เห็นว่าการเปิดใจรับฟังคนอื่น ไม่น่าจะทำให้เราขาดทุนตรงไหน

  KM นั้นต้องการความหลากหลาย (ไม่งั้นจะเรียกว่ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรอะ !) ผู้ที่ฟังเป็น ถือว่าได้เปรียบ เพราะการฟังเป็นหรือฟังให้ได้ยิน ถือว่าเป็นศิลปะในการเรียนรู้ชั้นสูง  พวกเราหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวในทำนองที่ว่า "คนฉลาดย่อมเป็นผู้ฟังที่ดี" อะไรประมาณนี้กันมาบ้างนะครับ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเราส่วนใหญ่ก็รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ทว่าในชีวิตจริงเรามักจะทำกันไม่ได้อย่างนั้น เพราะมันคันปาก คอยอยากจะโต้แย้งไปตามความคิดเห็น ทัศนะคติและอัตตาของเรา ผมเองก็เป็นบ่อย ซึ่งเราก็คงต้องค่อยๆ ฝึกฝนกันไป ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราอยู่ในหลักการนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ "การมีสติ"  เราจะต้องคอยเตือนสติตนเองอยู่เสมอไม่ให้หลงไปว่า เก่งหรือวิเศษกว่าคนอื่น เพราะคนที่เก่งที่สุดน่ะ  ไม่มีหรอกครับ

ลองชมวีดีโอเรื่องนี้ดูครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น